วันที่ 24 ม.ค.66 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมครม.วันนี้ ว่า ปัจจุบัน มิจฉาชีพมีการหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยายตัวรวดเร็วและเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 ตุลาคม 2565 มีคดีออนไลน์เกิดขึ้นกว่า 114,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 22,000 ล้านบาท เฉลี่ย 800 คดีต่อวัน อีกทั้ง ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ สามารถระงับการทำธุรกรรมใด ๆ ที่ต้องสงสัยว่าเป็นธุรกรรมที่กระทำผิดทางอาญา โดยเฉพาะการหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินไปยังบัญชีผู้อื่นที่อยู่ในขบวนการเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า บัญชีม้า ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถระงับการทำธุรกรรมหรืออายัดเงินได้ทันท่วงที
ดังนั้น ครม.จึงมีมติอนุมัติร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. …. เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชนอย่างเร่งด่วน ร่างพระราชกำหนดนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่หลอกลวงประชาชนให้โอนเงินผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และลงโทษผู้ที่เปิดบัญชีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินมาใช้ในการกระทำความผิดอาญา โดยมีรายละเอียด อาทิ
1.กำหนดให้มีกลไก “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกำหนดหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน
2.สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล
3.ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูล และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนได้
4.สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางเท่าที่จำเป็น เกี่ยวกับข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน ข้อความสั้น เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและป้องกัน