ปี่กลองการเลือกตั้งดังรุนแรงขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะการเตรียมตัวเข้าสู่สนามเลือกตั้งปี 2566 ของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ช่วงนี้แห่เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครกันจ้าละหวั่น รวมถึงการยกพลเดินสายลงพื้นที่ตามจังหวัดต่าง ๆ อย่างของบรรดาแกนนำไม่เว้นแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา นายกรัฐมนตรีหลังจากเปิดตัวในนามรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งท่วงท่าและจังหวะดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญาณว่า การ “ยุบสภาฯ” จะเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลมีอายุครบวาระ
จับกระแสตามโร้ดแม็บที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)วางไว้จะทราบว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคมหาก พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบตามวาระไปจนถึงวันที่วันที่ 24 มีนาคม แต่ด้วยองค์ประกอบของไทม์ไลน์ทางการเมืองหลายปัจจัยเชื่อว่า การยุบสภาจะเกิดขึ้นในเดือน “กุมภาพันธ์” อย่างแน่นอน
สัญญาณ “ยุบสภา” เดือนกุมภาพันธ์เป็นที่รับรู้กันมานานในกลุ่มรัฐมนตรี และ ส.ส.ในฝั่งรัฐบาล แม้ก่อนหน้านี้นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯจะยุบสภาฯ หลังปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 ก.พ.นี้ แต่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ทอดยาวห้วงระยะเวลาไปไกลจนถึงสภาฯปิดอย่างแน่นอน แต่อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เดือนกุมภาพันธ์เหมาะสมที่สุดสำหรับการยุบภา
ปัจจัยแรก (สองกฎหมายหมายสำคัญ-งบฯปี67ผ่านฉลุย) หลังจากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองผ่านความเห็นชอบจกสภา ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามในร่างกฎหมายและนำขึ้นทูลเกล้าฯเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ทั้งนี้เมื่อมีการโปรดเกล้าฯลงมา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา กฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป ซึ่งถือว่า กติกาสำหรับการเลือกตั้งเสร็จครบถ้วนแล้วเช่นกัน
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้นายกฯยังส่งสัญญาณชัดเจนว่าการยุบสภาจะไม่เกิดขึ้นหากคณะรัฐมนตรียังไม่เห็นชอบ “งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567” เพราะนายกฯให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างมาก เพราะเมื่องบฯปี 67 ผ่านการอนุมัติจากครม. จะทำให้การจัดทำงบฯไม่สะดุด รัฐบาลชุดใหม่สามารถเสนองบฯ ให้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่พิจารณาและประกาศใช้ได้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบฯ67 อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติงบดังกล่าวแล้วใน วงเงิน 1.46 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือว่างบฯปี67เสร็จครบถ้วนกระบวนการเช่นกัน