27 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า สามตัวแปรด่านหิน จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ฯ นายกรัฐมนตรี กลับสู่ทำเนียบริบหรี่..”ผู้สื่อข่าวจึงได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชนคนดัง โดยอธิบายและให้ความรู้กฎหมายแก่ประชาชนว่า ทิศทางการเมืองในปี 2566 ในปีฉลู กระต่ายไม่ตื่นตูม
ให้ยึดหลักกฎหมาย แต่ไม่ใช่คำบอกเล่า คาดคะเนกันไปเอง บนพื้นฐานนับตัวเลข ส.ส.ว่าพรรคนั้น พรรคนี้ จะแลนด์สไลด์ หรือบางพรรคให้ข่าวว่า ได้เกิน 100 ที่นั่ง เป็นการข่มขวัญคู่ต่อสู้ เอามันส์ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 83 กำหนด ส.ส.เพียง 500 คน แต่หากนับทุกพรรคที่บอกว่าจะได้เท่านั้นเท่านี้ตามข่าว น่าจะรวมตัวเลขทุกพรรคเกินกว่าหนึ่งพันคน ถือว่าเป็นสีสันทางการเมือง แต่ทิศทางการเมืองใน 2566 กระต่ายต้องไม่ตื่นตูม และเป็นปีแห่งความหวัง นายไพศาลฯ จะวิเคราะห์การเมืองอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง การออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลโดยตรงต่อการจัดตั้งรัฐบาลโดยตรง ไม่ว่ารัฐบาลจะชิงยุบสภาตามมาตรา 103 วรรคสอง เพื่อหลีกเลี่ยงกฎเหล็ก 180 วันตามกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 68(1) หรือจะอยู่ครบวาระ ตามมาตรา 99 วรรคหนึ่ง ก็ตาม โดยมีตัวแปร ดังนี้
(1)การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่ จากระบบบัตรใบเดียวเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ ทำให้การต่อสู้เพียง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เอาลุงตู่กับฝ่ายที่ไม่เอาลุงตู่ ท่านทั้งหลาย จะพบเห็นปรากฏการณ์หาเสียงในช่วงเลือกตั้ง แยกฝ่ายชัดเจน ทั้งๆที่พรรคการเมืองควรแข่งขันกันด้านนโยบาย และแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องพี่น้องประชาชน
(2) การแตกพรรคการเมืองในฐานการเมืองเดียวกัน อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ว่าจะเรียกว่า พรรคพี่ พรรคน้อง แต่ไม่ได้ควบรวมพรรคที่มี ส.ส.เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 99 วรรคสองบัญญัติห้ามไว้ ลักษณะการแตกพรรค ไม่ใช่การแตกแบงค์พัน เพื่อแยกกันเดิน รวมกันตี แต่เป็นการแย่งชิงอำนาจ ทำให้พรรคการเมืองเหล่านี้ ฐานมวลชน ทับซ้อนกัน จะทำให้แย่งฐานคะแนนเสียงในระดับเขต
(3)จากเดิมรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 วรรคหนึ่ง ส.ส.เขต 350 คน เพิ่มเป็น 400 คน ทำให้เกิดช่องว่าง คือ พื้นที่เพิ่ม 50 เขต หารตามจำนวนประชากรล่าสุดสิ้นปี 2565 จะเป็นชิ้นปลามัน ไมว่าจะเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กหรือพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่แย่งชิงกัน ตัวแปรยังไม่มีเจ้าของพื้นที่ การแบ่งเขตเป็นหน้าที่ของ กกต.เป็นตัวชี้วัด หากแบ่งเขตให้ขั้วอำนาจใดได้เปรียบในฐานมวลชน โอกาสชนะเลือกตั้งในเขตนั้นสูง เว้นแต่บางเขตต้องการสั่งสอนนักการเมืองหน้าเก่า ไร้อุดมการณ์ ประชาชนจะเทคะแนนให้ผู้สมัครฯ หน้าใหม่