นับถอยหลังเข้าสู่โหมด “เลือกตั้ง” อย่างเต็มตัว หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา จากผลพวงดังกล่าวเท่ากับว่า ก่อนถึงวันที่ 24 มี.ค.2566 ซึ่งเป็นวันครบวาระ 4 ปีของรัฐบาลนั้น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สามารถกดปุ่มยุบสภาได้ทุกนาที หรือจะเลือกสร้างสถิติอยู่ครบวาระ 4 ปี
ทั้งนี้หลังจากกฎหมาย 2 ฉบับถูกโปรดเกล้าฯ ลงมา พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันอย่างหนักแน่น “ไม่ยุบสภา” โดยจะให้เวลากกต.วางแผนเพื่อทำงานให้ลุล่วง เพราะไทม์ไลน์คร่าวๆ นั้น ทราบว่า กกต.ขอเวลา 45 วันในการวางแผนเลือกตั้ง รวมทั้งการสรุปข้อตกลงการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ที่เพิ่มขึ้น 50 เขตกับพรรคการเมืองต่างๆให้ลุล่วงไปด้วยดี
สำหรับการเลือกตั้งส.ส.ในปี 2566 จะใช้บัตรสองใบ โดยมี ส.ส. ทั้งประเทศรวม 400 เขต เพิ่มจากคราวที่แล้ว 50 คน ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน โดยมีจำนวนประชากร 66,090,475 คน ดังนั้นอัตราเฉลี่ยประชากรจำนวน 165,226.1875 คนจะได้ ส.ส.เขต 1 คน ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อต้องใช้คะแนนราว 3.7แสนต่อหนึ่งส.ส.บัญชีรายชื่อ
ส่วนจำนวน ส.ส.ที่เพิ่มขึ้นนั้นแบ่งเป็น ภาคเหนือ ส.ส.รวม 39 คน (เดิม 33 คน )ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส.ส.รวม 132 คน (เดิม 116 คน) ภาคกลาง ส.ส. รวม 122 คน ( เดิม 106 คน) ภาคตะวันออก ส.ส. รวม 29 คน (เดิม 26 คน )ภาคตะวันตก ส.ส. รวม 20 คน (เดิม 19 คน )ภาคใต้ ส.ส. รวม 58 คน (เดิม 50 คน) กทม.33คน (เดิม30คน)
ทั้งนี้สำหรับจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะมีได้ตามสูตรการคำนวณเรียงตามจำนวน ส.ส.ที่ได้แต่ละจังหวัดจากมากสุดไปน้อยสุด ดังนี้
1 .จำนวน ส.ส. 33 ที่นั่ง มี 1 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร
2. จำนวนส.ส. 16 ที่นั่ง มี 1 จังหวัด คือ นครราชสีมา
3. จำนวนส.ส. 11 ที่นั่ง มี 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และอุบลราชธานี
4. จำนวนส.ส. 10 ที่นั่ง มี 2 จังหวัด คือ ชลบุรี และ บุรีรัมย์
5. จำนวนส.ส. 9 ที่นั่ง มี 4 จังหวัด คือ สงขลา นครศรีธรรมราช อุดรธานี และศรีสะเกษ
6. จำนวน ส.ส. 8 ที่นั่ง มี 5 จังหวัด คือ เชียงราย นนทบุรี ร้อยเอ็ด สุรินทร์และ สมุทรปราการ
7. จำนวน ส.ส. 7 ที่นั่งมี 4 จังหวัด คือ สกลนคร ชัยภูมิ สุราษฏร์ธานี และ ปทุมธานี
8. จำนวนส.ส. 6 ที่นั่งมี 5 จังหวัดคือ เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ มหาสารคราม นครปฐม และนครสวรรค์
9. จำนวนส.ส. 5 ที่นั่งมี 7 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา นราธิวาส ระยอง กาญจนบุรี ราชบุรี พิษณุโลก และสุพรรณบุรี
10. จำนวนส.ส. 4 ที่นั่งมี 12 จังหวัด คือ สระบุรี ตรัง เลย สมุทรสาคร สุโขทัย ลพบุรี ปัตตานี ฉะเชิงเทรา ลำปาง นครพนม กำแพงเพชร และ ตาก
11. จำนวนส.ส. 3 ที่นั่งมี 19 จังหวัด คือ เพชรบุรี กระบี่ ชุมพร ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา พัทลุง น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ แพร่ พิจิตร สระแก้ว จันทรบุรี ปราจีนบุรี หนองบัวลำภู ยโสธร บึงกาฬ และหนองคาย
12. จำนวนส.ส. 2 ที่นั่งมี 10 จังหวัด คือ สตูล อุทัยธานี ชัยนาท แม่ฮ่องสอน อ่างทอง พังงา นครนายก ลำพูน อำนาจเจริญ มุกดาหาร และ13 จำนวนส.ส. 1 ที่นั่งมี 4 จังหวัด คือ ตราด สิงห์บุรี ระนอง สมุทรสงคราม