“พิธา”นำส.ส.ก้าวไกล ยื่นหนังสือ ถึงปธ.ศาลฎีกา สอบถามบรรทัดฐานการให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีม.112 และ ม.116 ยกกรณี ตะวัน-แบม อดอาหาร ท่ามกลางสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความบอบบาง
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ที่สำนักงานศาลฎีกา พรรคก้าวไกลนำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อสอบถามประเด็นบรรทัดฐานในการให้ประกันตัวผู้ต้องหาจากคดีการแสดงออกทางการเมือง ขอให้พิจารณาดำเนินการตามหลักนิติรัฐและความยุติธรรม จากกรณีที่ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนักกิจกรรมทางการเมือง ส่งผลให้ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ “แบม” นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกาศถอนประกันตนเอง พร้อมกับอดน้ำและอาหาร เพื่อเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรมให้สิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกคน ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. เป็นต้นมา
นายพิธา พร้อม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้แถลงข่าวบริเวณหน้าสำนักงานศาลฎีกา โดยอ่านข้อความในหนังสือ มีเนื้อหาสอบถามไปยังประธานศาลฎีกา ใจความว่า ตามที่ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกา และการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562 กำหนดให้ในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107 – 135 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องรายงานคดีต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค และอธิบดีผู้พิพากษาต้องรายงานคดีต่อประธานศาลฎีกา โดยกำหนดให้มีการตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยตามข้อ 14 แห่งระเบียบดังกล่าว ระบุว่า “การตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งตามข้อ 13 ให้ดำเนินการเพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน ในกรณีที่ต่างไปจากแนวบรรทัดฐาน ควรมีเหตุผลพิเศษ และให้แสดงเหตุผลไว้ในร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม