คณะนักวิจัยดำเนินการวิเคราะห์ผลการสำรวจผู้ชายชาวจีน 1,028 คน ที่มีอายุเฉลี่ย 27.8 ปี ซึ่งพบว่าราวร้อยละ 57.6 ของผู้เข้าร่วมสำรวจ เผชิญอาการผมร่วงแบบผู้ชาย (MPHL)
อาการผมร่วงแบบผู้ชายเป็นรูปแบบผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุดในหมู่ผู้ชาย หรือครองสัดส่วนราวร้อยละ 95 ของอาการผมร่วงทั้งหมดที่ผู้ชายเผชิญ โดยอาการผมร่วงส่งผลให้ผมบางและ/หรือหลุดร่วงบริเวณด้านหน้าหรือด้านบนของหนังศีรษะ และเส้นผมมีแนวโน้มที่จะมีขนาดเล็กลงในบริเวณเหล่านี้
การศึกษาครั้งนี้ครอบคลุมเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหลายประเภท ได้แก่ น้ำผลไม้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่และเครื่องดื่มชูกำลัง นมใส่น้ำตาล นมถั่ว ชาใส่น้ำตาลและเครื่องดื่มชา และกาแฟ
กลุ่มผู้เข้าสำรวจร้อยละ 44.6 กล่าวว่าพวกเขาดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 7 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยคณะนักวิจัยพบว่าผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงขึ้นจะมีความเสี่ยงเผชิญอาการผมร่วงแบบผู้ชายมากขึ้นตามไปด้วย ขณะระดับการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในกลุ่มผู้ที่มีอาการดังกล่าวเฉลี่ยอยู่ที่ 4,293 มิลลิลิตรต่อสัปดาห์ สูงกว่าระดับของกลุ่มปกติ ซึ่งอยู่ที่เพียง 2,513 มิลลิลิตร
คณะนักวิจัยกล่าวว่าปริมาณน้ำตาลที่สูงขึ้นสามารถนำไปสู่ความเข้มข้นของกลูโคสในเลือดที่สูงขึ้น ส่งผลให้วิถีการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสเป็นน้ำตาลฟรักโทส หรือที่เรียกว่าวิถีโพลีออล (polyol pathway) ทำงานมากเกินจำเป็น ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเบาหวานได้ โดยการศึกษาชี้ว่าอาการผมร่วงบ่งบอกถึง “วิถีโพลีออลที่ทำงานมากเกินไป”
คณะนักวิจัยเน้นย้ำว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลอาจส่งผลเสียต่อลักษณะรูปร่างภายนอก พร้อมเผยถึงความจำเป็นในการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบระยะยาวเพิ่มเติม เพื่อยืนยันความเชื่อมโยงข้างต้นและเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาด้านสุขภาพ
ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนิวเทรียนท์ส (Nutrients)
เครดิต: ซินหัว