“ทักษิณ” สลบ “สุริยะ” รอด-ป.ป.ช.ฟันโกงซื้อเครื่องบินยักษ์

เปิดพฤติกรรม "ทักษิณ-บริวาร" สูบเลือดการบินไทยวินาศสันตะโรหลัง ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาทุจริตจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส 10 ลำเจ๊งยับกว่า 6 หมื่นล้าน สูบคอมมิชชั่นกว่า 2 พันล้าน พร้อมถอดรหัส "สุริยะ" รอดโดนสอดรับไม่ทิ้งลุงป้อมในวันที่เส้นทางสามมิตรถึงวันแยกทาง

เป็นประเด็นใหญ่ทางการเมืองเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายพิเชษฐ สถิรชวาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม ,นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย และนายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัสแบบ A340-500 และแบบ A340-600 จำนวน 10 ลำ ในช่วงปี 2546-2547 ทำให้ บมจ.การบินไทย ได้รับความเสียหาย

ส่วนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป เนื่องจากในขณะที่มีการอนุมัติให้มีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัสทั้งสองรุ่นนั้นนายสุริยะ ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบและกำกับดูแล บมจ.การบินไทย แต่เป็นนายพิเชษฐ ในฐานะ รมช.คมนาคม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล บมจ.การบินไทย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าวมีทั้งสิ้น 5 คน ได้แก่ นายทักษิณ ,นายพิเชษฐ ,นายทนง,นายกนก และนายสุริยะ

สำหรับขั้นตอนภายหลังหลังมีมติดังกล่าว ป.ป.ช. จะทำหนังสือแจ้งข้อกล่าวหากับนายทักษิณ ,นายพิเชษฐ ,นายทนง และนายกนก อย่างเป็นทางการ จากนั้นเรียกผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 รายมาชี้แจงต่อไป อย่างไรก็ตามเนื่องจากขั้นตอนนี้เป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาเท่านั้น ดังนั้นบุคคลทั้ง 4 ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

ทั้งนี้เครื่องบินแอร์บัส รุ่น A340-500 และรุ่น A340-600 จำนวน 10 ลำ ถูกระบุว่าเป็นภาระใหญ่ที่ทำให้การบินไทยมีหนี้สะสมเพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล โดยเครื่องบินทั้ง 10 ลำจัดซื้อในช่วงปี 2546-2547 และมีมูลค่าตามบัญชี ณ วันส่งมอบ 53,043 ล้านบาทนั้น โดย เครื่องบินแอร์บัสทั้ง 2 รุ่นดังกล่าว เริ่มบินตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ถึง 7 ม.ค.2556 ในเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก ,กรุงเทพ-ลอสแองเจลิส และเส้นทางอื่นๆ รวม 51 เส้นทาง แต่ประสบปัญหาขาดทุนในทุกเส้นทางที่ทำการบินไม่น้อยกว่า 39,859.52 ล้านบาท จึงปลดระวางเครื่องทั้งหมดในปี 2557-2558 ทั้งๆที่ยังเหลือเวลาใช้งานอีก 5-6 ปี

อย่างไรก็ตามหลังปลดระวางได้ตั้งค่าใช้จ่ายในการ ด้อยค่าไปแล้วประมาณ 15,000 ล้านบาท และปัจจุบันพบว่าบริษัทฯ ได้ขายเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A340-500 จำนวน 1 ลำ ให้กับกองทัพอากาศไทย ส่วนที่เหลืออีก 9 ลำ ได้แก่ รุ่น A340-500 จำนวน 3 ลำ และรุ่น A340-600 จำนวน 6 ลำ มีการประกาศขายเครื่องบินมาแล้ว 8 ครั้ง แต่ปรากฎว่าจนถึงปัจจุบัน บริษัท การบินไทย ยังขายเครื่องบินดังกล่าวไม่ได้ โดยเครื่องบินทั้งหมดจอดรอการขายอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภามาแล้ว 5 ปี ที่สำคัญตั้งแต่ปี 2556-2560 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องบิน A340 ทั้ง 9 ลำ ที่จอดรอการขาย ไม่ต่ำกว่าปีละ 27 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าซ่อมบำรุงปีละ 17 ล้านบาท และค่าจอดเครื่องบินปีละกว่า 10 ล้านบาท

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ปัญหาการทุจริตที่ ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณ และพวกชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลทักษิณมีการโกงกินกันทุกย่อมหญ้าไม้เว้นแม้แต่องค์รกรใหญ่อย่างการบินไทยต้องมาเจ๊งวอดวายล้มละลาย ซึ่งปัญหาการทุจริตเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าว นายถาวร เสนเนียม อดีต รมช.คมนาคม ออกมาเปิดแผลถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท และปัญหาการทุจริตในการบินไทยอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้รู้ถึงขบวนการงาบเงินส่วนต่างจำนวนหลายพันล้าน

การทุจริตการบินไทยเริ่มมาจากผลประกอบการในปี 2551-2562 ขาดทุนอย่างหนัก ซึ่งนายถาวร ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริการกิจการของการบินไทยสั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยทำแผนธุรกิจการบิน และแผนฟื้นฟูธุรกิจมาเสนอ ผู้บริหารงานการบินไทยทำแผนมาสองแบบ คือ แผนกู้เงิน 54,000 ล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้ และแผนที่สอง เพิ่มหุ้นกู้ในปลายปี 63 83,000 ล้านบาท

ต่อมานายถาวร ตรวจสอบพบว่า การบินไทยมีหนี้สะสม 50,000 ล้านบาท และที่สำคัญยังพบเค้าลางการทุจริตเมื่อพบว่า เครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จอดอยู่ที่อู่ตะเภาโดยไม่ได้ใช้งาน ทำให้การบินไทยต้องเสียทั้งค่าจอด ค่าดูแลรักษา และค่าประกันต่อปีสูงถือ 27 ล้านบาท และเมื่อนำเอกสารทั้งหมดมาตรวจดู นายถาวรพบว่าเครื่องบินทั้งหมดซื้อในยุคของ นายทักษิณ เมื่อปี 2545-2546 จึงสั่งให้ตรวจสอบว่า เรื่องดังกล่าวเข้าข่ายทุจริตหรือไม่ โดยตั้งคณะทำงานที่มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

ผลตรวจสอบพบข้อพิรุธมากมาย นายถาวรจึงได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 พ.ค. 2563 กระทั่งมีมติให้ผู้เชี่ยวชาญ 33 คนประกอบด้วยนักกฎหมาย นักบริหารธุรกิจการบิน นักบัญชีและนักการเงิน ฯลฯ ตรวจอบ โดยห้ามนักการเมืองและข้าราชการเข้ามายุ่งเกี่ยว

ข้อสรุปการตรวจสอบพบว่า เครื่องบินแอร์บัสทั้ง 2 รุ่นที่ซื้อในยุคทักษิณส่อทุจริตประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยการตัดสินใจจัดซื้อในครั้งน้น นายทักษิณไม่ยอมฟังคำทักท้วงของสภาพัฒน์ฯถึงความคุ้มค่า ซึ่งการรวบรัดตัดสินใจในครั้งนั้นทางการเมืองรู้ดีว่า เป็นการซื้อเพื่อรับค่าคอมมิชชั่นจำนวน “2,000 กว่าล้าน” เพราะรู้ดีว่าบริษัทผลิตเครื่องบินมีธรรมเนียมปฏิบัติว่าใครที่มีอำนาจซื้อเครื่องบินจะได้ค่าคอมมิชชั่น

ทั้งนี้ในส่วนเอกสารการตรวจสอบนั้น นายถาวรส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะซูเปอร์บอร์ดการบินไทยรับทราบ โดยคณะทำงานฯสรุปว่า เมื่อนำผลขาดทุนจากการจัดซื้อและการบริหารจัดการเครื่องบินแอร์บัสทั้ง 2 รุ่นจำนวน 10 ลำ มารวมกัน ทำให้การบินไทย ประสบภาวะการขาดทุนรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาท

น่าหดหู่ใจแทนคนไทยยิ่งนักเมื่อนายถาวรระบุว่า “เมื่อนายทักษิณ ซื้อเครื่องบินเสร็จสิ้นก็ได้รับเงินทอนรวมถึงได้รับเงินทอนในส่วนการว่าจ้างเหมาจ่ายในการซ่อมด้วย ส่วนบินแล้วจะขาดทุนหรือไม่ช่างหัวมัน แต่นายทักษิณมาพูดว่าจะกลับประเทศไทยอย่างเท่ๆ โดยไม่พึ่งพาพรรคการเมือง ส่วนตัวมองว่า นายทักษิณเป็นคนที่น่ากลัว แม้แต่ นายเสนาะ เทียนทอง เคยออกมาพูดถึงการประชุมวางแผนหาเสียงกับคนยากคนจน นายทักษิณใช้คำว่า “คนจนก็เปรียบเสมือนคนตาบอด เจอเสือจึงไม่รู้สึกกลัว เราเขียนอะไรก็ได้ให้เขาเชื่อเราก่อน” นี่คือสิ่งที่ นายทักษิณไม่เคยยอมรับว่าได้ทำอะไรลงไป และมันส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทย หรือแม้จะกระทบกับสายการบินแห่งชาติก็ตาม”

ขณะเดียวกันในการชี้มูลของ ป.ป.ช. ยังมีประเด็นน่าสนใจเมื่อนายสุริยะ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่โดนตั้งข้อกล่าวหา โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เหตุผลว่า ขณะมีการอนุมัติจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ นายสุริยะ ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบและกำกับดูแลการบินไทย แต่เป็นนายพิเชษฐมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลการบินไทย จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

 

 

จากประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า คดีนี้ยืดเยื้อมาสิบกว่าปี โดย ป.ป.ช. ขยายเวลาการไต่สวนสอบสวนตลอดมา แต่ผลของการกระทำผิดเพิ่งมาชี้ชัดชัดในช่วงปลายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ และที่น่าสนใจคือ นายสุริยะ ในฐานะเจ้ากระทรวงคมนาคม และผู้กำกับดูแลโดยตรงกับไม่พบความผิดใด ๆ ซึ่งการรอดคดีอย่างหวุดหวิดทำให้กระแสข่าวนายสุริยะ ถูก พล.อ.ประวิตรจับคล้องโซ่ตีตรวนให้อยู่โยงกับพลังประชารัฐเพื่อแลกกับการพ้นคดีจัดซื้อเครื่องบินยักษ์การบินไทยกระพือขึ้นมาทันที

นอกจากนี้ผลการไม่แจ้งข้อกล่าวหานายสุริยะ ทำให้สังคมจับจ้องการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเฉพาะ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ หรือ บิ๊กกุ้ย ประธาน ป.ป.ช. เพราะเป็นที่ทราบกันดีกว่า พล.ต.อ.วัชรพล เคยนั่งเป็นรองเลขาธิการนายกฯด้วยการสนับสนุนจาก พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลคสช. นอกจากนี้บิ๊กกุ้ยยังเป็นนายตำรวจใกล้ชิด พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ หรือ “บิ๊กป๊อด” อดีตผบ.ตร. น้องชายของบิ๊กป้อมที่ตอนนี้คนในพลังประชารัฐต่างรับรู้ดีว่า พล.ต.อ.พัชรวาท คือ ป.คนที่ 4 และเป็นบุคคลที่กุมอำนาจสั่งการในพรรคพลังประชารัฐในระนาบที่ไม่ด้อยกว่า พล.อ.ประวิตร

เมื่อจับเรื่องราวมาขมวดรวมกันจะพบว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลนายสุริยะมันมีความเชื่อมโยงที่ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นระบบ จึงไม่น่าแปลกใจที่นายสุริยะจะปักหลักช่วยงานพรรคพลังประชารัฐต่อไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายสุริยะมีข่าวจะย้ายกลับพรรคเพื่อไทยพร้อมกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม โดยจะไม่ตามนายอนุชา นาคาสัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯไปช่วยงานลุงตู่อย่างแน่นอน และที่สำคัญเมื่อ พล.อ.ประวิตร แสดงความจริงใจด้วยการปลดล็อคพันธการจากเงื้อมมือ ป.ป.ช.ก็น่าจะเป็นการซื้อใจนายสุริยะได้ในระดับนึงเช่นกัน

จากนี้ไปนายสุริยะสามารถเดินเด่นเป็นสง่าบนเวทีการเมืองต่อไป โดยปล่อยให้พวกบรรดาเสือโหยอย่างนายทักษิณ และบริวาร เผชิญวิบากกรรมต่อไป เพราะการจัดซื้อเครื่องบินทั้ง 10 ลำ ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองใหญ่ที่ทำให้การบินไทยล้มละลายอย่างไม่เป็นท่า และนี่คือสิ่งที่นายทักษิณและพวกกระทำต่อประเทศชาติ แต่ยังหน้าไม่วายส่งเสียงตะโกนอวดเบ่งสร้างวาทกรรมการเมืองได้ตลอดเวลา โดยไม่สนว่า บ้านเมืองจะพินาศย่อยยับเพียงใด…..!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ทบ.ขานรับนโยบายปราบยาเสพติด เพิ่มทหาร 6 กองกำลัง วัดเคพีไอ 10 กพ.-10 มิ.ย.
ซีพีเอฟ ซีพี-เมจิ ร่วมหนุนสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ "รวมพลังสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย”
สละเรือแล้ว! "ผบ.อิสราเอล" ยื่น "ลาออก" เซ่นเหตุ 7 ต.ค. ไล่แทงกันในเทลอาวีฟเจ็บ 5
สุดปัง “นายกฯ” สวมกระโปรงผ้าปาเต๊ะ ร่วมประชุม WEF
ทบ.ยืนยันอีกรอบ! ปมร้อน “แสตมป์” ไม่เกี่ยวกองทัพ พบไม่เคยร้อง 112
ผบ.ทร.เข้าเยี่ยม พร้อมมอบของบำรุงขวัญ สร้างกำลังใจทหารผ่านศึก ขอบคุณเสียสละเพื่อชาติจนทุพพลภาพ
“อัจฉริยะ” ยอมเสี่ยงชีวิต มาขึ้นไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล พร้อมเปิดแผลผ่าตัดโชว์นักข่าว
"อิสราเอล" บิดหยุดยิง ถล่มเวสต์แบงก์ดับเกลื่อน "ฮามาส" รวมพลด่วน
ตม.4 บุกทลายเว็บพนันฯเกาหลีใต้ ใช้ไทยเป็นฐานบัญชาการควบคุมทั่วโลก เงินหมุนเวียน 100 ล้านบาท
เปิดคำพิพากษา “เต้ มงคลกิตติ์” ทำสัญญาประนีประนอม ยอมขอโทษ หมิ่นกล่าวหา “ศักดิ์สยาม”

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น