ถือเป็นประเด็นใหญ่ในช่วงเริ่มต้นปี 2566 ได้ไม่นาน จากการที่มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี , นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีตรมช.คมนาคม ยุครัฐบาลไทยรักไทย ,นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย และนายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัสแบบ A340-500 และแบบ A340-600 จำนวน 10 ลำ ในช่วงปี 2546-2547 และเป็นเหตุทำให้ บมจ.การบินไทย ได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
แต่ประเด็นสำคัญ คือ ในการชี้มูลผู้กระทำผิดครั้งนี้ ป.ป.ช. กลับมีมติตีตกข้อกล่าวหา สำหรับกรณีของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม หลังจากเคยเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในชั้นการไต่สวน โดยที่ประชุมป.ป.ช.ให้เหตุผลว่า เนื่องจากในช่วงที่มีการอนุมัติให้มีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 ล็อตดังกล่าว นายสุริยะ ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบและกำกับดูแล บมจ.การบินไทย โดยตรง แต่เป็นนายพิเชษฐ ในฐานะ รมช.คมนาคม เป็นมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล บมจ.การบินไทย
ขณะที่ นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา เมื่อเดือน ก.ย.2564 ว่า ในช่วงปี 2545-2546 ขณะที่ตนดำรงตำแหน่งเป็น รมช.คมนาคม กำกับดูแลการบินไทย ไม่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติจัดซื้อเครื่องบิน แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารการบินไทยเสนอขึ้นมา และเป็นอำนาจของรมว.คมนาคม ในการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม พร้อมเน้นย้ำว่า รมช.คมนาคมไม่มีอำนาจอะไรขนาดนั้น
“ผมไม่รู้เรื่องเลยว่าได้รับเกียรติอันนี้ด้วย แต่เข้าใจว่าเขาคงเห็นชื่อผมเป็น รมช.คมนาคม ที่กำกับดูแลการบินไทยตอนนั้น แต่ รมช. ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากขนาดนั้น”
ทั้งนี้ประเด็นการจัดซื้อเครื่องบิน แอร์บัส A340-500 และ A340-600 ซึ่งกำลังเป็นเรื่องใหญ่ กระทบไปทุกวงการนี้ มีข้อมูลว่าเริ่มต้นมาจากการที่ นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ในขณะนั้น สั่งการให้มีการตรวจสอบปัญหาที่เป็นผลกระทบทำให้ บมจ.การบินไทย ต้องประสบภาวะขาดทุนถึงขั้นต้องยื่นแผนพื้นฟูกิจการ