"คุรุสภา" อัปเดตหลักเกณฑ์การยื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มีผลบังคับใช้วันที่ 15 มีนาคม 2566 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เช็คที่นี่
ข่าวที่น่าสนใจ
ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุ สภา กล่าวว่า ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อบังคับ คุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2565 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 และมีผลบังคับใช้ 15 มีนาคม 2566 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ยกเลิกข้อบังคับคุรุ สภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2559 และข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2562
2. ปรับปรุงการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จากเดิมออก ‘ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู’ ฉบับเดียว เป็น ‘ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู’ ที่มีการจำแนกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
2.1) ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู (Provisional Teaching License : P-License) ผู้ที่ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครูจะต้องมีคุณสมบัติ
- มีคุณวุฒิทางปริญญาทางการศึกษาที่คุรุ สภารับรอง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป (โดยยังไม่ต้องมีผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู)
- ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (ตามหลักเกณฑ์ที่คุรุ สภากำหนด) ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู มีอายุ 2 ปี นับตั้งแต่วันออกใบอนุญาต
2.2) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Teaching License : B-License) ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น จะต้องมีคุณสมบัติ
- มีคุณวุฒิทางปริญญาทางการศึกษาที่คุรุสภารับรอง
- ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (ตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด)
- ผ่านการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาคุณวุฒิจากต่างประเทศจะต้องขอรับรองคุณวุฒิก่อนขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น มีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่วันออกใบอนุญาต
2.3) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (Advanced Teaching License : A-License) ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง จะต้องมีคุณสมบัติ
- มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น
- ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับคุณภาพตามที่คุรุ สภากำหนด หรือ มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (เดิม) และมีวิทยฐานะชำนาญการหรือเทียบเท่าขึ้นไป ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง มีอายุ 7 ปี นับตั้งแต่วันออกใบอนุญาต
3. ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครูสิ้นสุดลงเมื่อเปลี่ยนเป็น ‘ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น’ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้นสิ้นสุดลงเมื่อเปลี่ยนเป็น ‘ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง’ การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้นและชั้นสูง ต้องขอตามกลุ่มวิชาและสามารถขอรับได้มากกว่าหนึ่งกลุ่มวิชา
4. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์ จะต้องมีคุณสมบัติ
- มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง
- มีความรู้และประสบการณ์ตามที่คุรุสภากำหนด
5. ค่าธรรมเนียมการขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์ ฉบับละ 500 บาท
6. การต่ออายุใบอนุญาตทุกประเภท ต้องดำเนินการต่ออายุภายใน 180 วัน ก่อนวันที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ พร้อมเอกสารหลักฐานและชำระค่าธรรมเนียมฉบับละ 200 บาท กรณียื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตล่าช้าหลังจากวันที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้ว ให้ชี้แจงเหตุผลและชำระค่าดำเนินการต่ออายุล่าช้าเดือนละ 200 บาทแต่ไม่เกิน 2,000 บาท นับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ใบอนุญาตหมดอายุถึงวันที่ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต (ระยะเวลานับได้ไม่ถึงหนึ่งเดือนนับเป็นหนึ่งเดือน และต้องดำเนินการต่ออายุใบอนญาตจนกว่าใบอนุญาตจะมีอายุใช้ได้)
7. การขอให้ออกใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถยื่นคำร้องต่อเลขาธิการคุรุ สภาใน 3 กรณี
- สมัครสอบและจะหมดระยะเวลาการรับสมัคร
- เรียกตัวบรรจุแต่งตั้งที่ต้องมีใบอนุญาตในวันที่บรรจุแต่งตั้ง
- ต่อสัญญาจ้าง ค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน ฉบับละ 1,000 บาท
8. การแก้ไขข้อมูลทางทะเบียน ให้ยื่นคำขอและหลักฐาน พร้อมชำระค่าธรรมเนียมครั้งละ 100 บาท
9. ค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการทุกประเภท คุรุ สภาจะไม่คืนเงินให้ผู้ยื่นคำขอหรือคำร้องทุกกรณี
บทเฉพาะกาล
1. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เทียบเท่า ‘ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น’ (ข้อ 35)
2. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูประกอบกับมีวิทยฐานะชำนาญการขึ้นไป เทียบเท่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง” (ข้อ 35)
3. คำขอที่ยื่นก่อนข้อบังคับนี้ ให้ดำเนินการตามที่กำหนดในข้อบังคับคุรุ สภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 (ข้อ 36)
4. การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น ให้ยกเว้นการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพสำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใด ดังนี้ (ข้อ 37)
- สำเร็จการศึกษาปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางการศึกษา ที่คุรุ สภารับรองและเข้าศึกษาก่อนปีการศึกษา 2562 หรือผู้ได้สิทธิในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก่อนข้อบังคับนี้
- สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางการศึกษาที่สถาบันการศึกษาเปิดสอนอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ใช้บังคับ
- ผ่านการรับรองความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนและผ่านการประเมินปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาครบหนึ่งปีต่อเนื่อง ตามข้อบังคับคุรุ สภา ว่าด้วยการรับรองความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565
- ปริญญาอื่นที่ผ่านการรับรองคุณวุฒิจากคุรุ สภาและเป็นคุณวุฒิที่เข้าศึกษาก่อนปีการศึกษา 2562
- ครูซึ่งเป็นสมาชิกคุรุ สภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 และเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอื่น อยู่ก่อนพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ใช้บังคับ และยังมิได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามตำแหน่งที่ประกอบวิชาชีพ
5. การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาหรือประกาศนียบัตรบัณฑิตที่คุรุ สภารับรองและเข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ถึง 2565 ให้ยกเว้นการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครูในวิชาเอก (ข้อ 38)
6. ให้คุรุ สภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์ ให้แก่ครูซึ่งเป็นสมาชิกคุรุ สภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 และผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอื่นอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ใช้บังคับ และยังมิได้รับใบอนุญาตตามตำแหน่งที่ประกอบวิชาชีพ (ข้อ39)
7. ผู้มีสิทธิตามมาตรา 84 และ 85 แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ประสงค์ขอให้ออกใบอนุญาตนับแต่วันที่มีสิทธิสามารถกระทำได้ โดยถือเป็นกรณีดำเนินการล่าช้า ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ (ข้อ 40)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คุรุสภา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง