ขยายผลเพิ่มเติมจากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทยอยแจ้งข้อกล่าวหา บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัสแบบ A340-500 และแบบ A340-600 จำนวน 10 ลำ ในช่วงปี 2546-2547 จนเป็นเหตุทำให้ บมจ.การบินไทย ได้รับความเสียหายเบ็ดเสร็จแล้วไม่ต่ำกว่า 68,271.53 ล้านบาท ตามผลตรวจสอบของคณะกรรมการที่มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ทำหน้าที่เป็นประธาน ตั้งแต่ปี 2563 แต่เพิ่งมีข้อสรุปเมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา
ประเด็นหลัก คณะกรรมการตรวจสอบฯ ชุดดังกล่าวเน้นย้ำชัดเจน ก็คือ ผลพวงการจัดซื้อเครื่องบินในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นส่วนสำคัญ ของการประสบภาวะการขาดทุนในระดับวิกฤตของบมจ.การบินไทย
และเพื่อความชัดเจนของสิ่งที่ ระบอบทักษิณ กระทำไว้กับบมจ.การบินไทย สายการบินแห่งชาติ มีข้อมูลชุดสำคัญประกอบการพิจารณาดังนี้
จากการตรวจสอบย้อนหลังกับรายงานประจำปีของบมจ.การบินไทย ในช่วง 15 ปีย้อนหลัง นับเนื่องจากที่มีปัญหาทางการเงินของบมจ.การบินไทย พบว่า บมจ.การบินไทย ไม่เคยตกต่ำในระดับนี้มาก่อน
เริ่มจาก 1.ปี 2533 ซึ่งเป็นช่วง 2 ปีหลังจากการบินไทย ควบรวมกิจการกับ บริษัทเดินอากาศไทย และทำให้การบินไทยในขณะนั้น มีฝูงบินเพิ่มเป็น 41 ลำ ให้บริการ 48 เมืองใน 35 ประเทศ และอีก 23 จุดบินในประเทศไทย พร้อมจัดตั้งครัวการบินที่สามารถรองรับการให้บริการลูกค้าได้ถึง 20,000 ที่นั่งต่อวัน จนสามารถยกระดับมาตรฐานการบริการให้เทียบเท่าสายการบินชั้นนำของโลกได้
ประเด็นสำคัญ ปี 2533 ยังถือเป็นปีที่การบินไทยมีดำเนินการครบรอบ 30 ปี นับแต่การบินไทยเริ่มบินเที่ยวบินแรกออกจากกรุงเทพฯ ด้วยเครื่องบินใบพัด แบบ DC-6B ซึ่งมีผู้โดยสาร 60 คน ในเส้นทาง กรุงเทพ-ฮ่องกง-ไทเป-โตเกียว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2503 และในปี 2533 บมจ.การบินไทยยังมีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิมากถึง 4,194 ล้านบาท แยกเป็นมูลค่ารายได้รวม 48,616 ล้านบาท และ ยอดรายจ่ายรวม 40,340 ล้านบาท