บินไทยเจ๊ง “ระบอบทักษิณ” ผลาญซื้อแสนๆล้าน

บินไทยเจ๊ง "ระบอบทักษิณ" ผลาญซื้อแสนๆล้าน

จากตัวเลขขาดทุนต่อเนื่องของบมจ.การบินไทย อันเป็นผลสำคัญประการหนึ่ง จากนโยบายการจัดซื้อฝูงบิน แอร์บัส แบบ A340-500 และแบบ A340-600 โดยการประมาณของคณะกรรมการตรวจสอบ ชุดที่มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ทำหน้าที่เป็นประธาน ตั้งแต่ปี 2563 มูลค่าไม่ต่ำกว่า 68,271.53 ล้านบาท

สิ่งที่พบจากการสืบค้นเพิ่มเติมก็คือ ฝูงบินจัดซื้อใหม่ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้มีเพียง แอร์บัส แบบ A340-500 และแบบ A340-600 จำนวน 10 ลำ เท่านั้น

และประเด็นสำคัญคือ ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศในช่วงแรก ถึงขั้นยอมรับว่าผลประกอบการของบมจ.การบินไทย มีปัญหาอย่างหนัก ดังนั้นรัฐบาลยืนยันจะไม่ยอมให้สายการบินแห่งชาติถึงขั้นเกิดวิกฤต ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือทางการเงิน

รวมถึงมีความจำเป็นต้องตัดลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อทำให้มีรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะการขายเครื่องบินที่ไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากที่ผ่านมาบมจ.การบินไทยทำการยกเครื่องฝูงบินใหม่ ด้วยการสั่งซื้อเครื่องบินมาตลอดใน 4 ปีที่ผ่านมา และยังคงมีสัญญาการรับเครื่องบินใหม่ต่อเนื่องยาวไปจนถึงปี 2018 ที่คาดว่าจะมีจำนวนเครื่องบินใหม่ทั้งหมดถึง 62 ลำ ภายในปี 2561 ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้บมจ.การบินไทยมีตัวเลขขาดทุนอย่างหนักต่อเนื่อง

 

และจากการสืบค้น ยังพบข้อมูลบางส่วน ในช่วงรัฐบาลทักษิณ หรือ ระยะเวลาปี 2545-2546 มีแนวคิดว่าด้วยแผนจัดซื้อเครื่องบินให้กับบมจ.การบินไทย จำนวนมากถึง 81 ลำ ประกอบด้วย

1.โบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ
2.โบอิ้ง 747-400 จำนวน 16 ลำ
3.โบอิ้ง 777-200 จำนวน 8 ลำ
4.แอร์บัส A330-300 จำนวน 12 ลำ
5.โบอิ้ง 737-400 จำนวน 10 ลำ

 

6.แอร์บัส A300-600 จำนวน 21 ลำ
7.เอทีอาร์ -72 จำนวน 2 ลำ
8.โบอิ้ง 747-300 จำนวน 2 ลำ
9.เอ็มดี -11 จำนวน 4 ลำ

 

 

และในช่วงปี 2546-2547 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นนโยบายการบินเสรี รัฐบาลทักษิณได้ทยอยสั่งซื้อเครื่องบินตามแผน แยกเป็นมติครม.เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2546 เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี2545/2546-2549/2550 โดยให้ บมจ. การบินไทย จัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมจำนวน 15 ลำ ในวงเงินลงทุนรวม 58,324 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. เครื่องบินแบบ B747-400 (ประเภทใช้แล้วของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ จำนวน 7 ลำ)
2.เครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 3 ลำ
3.เครื่องบินแบบ A340-600 จำนวน 5 ลำ

 

 

จากนั้นในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2547 ได้อนุมัติให้ บมจ.การบินไทย ดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี พ.ศ. 2548/2549-2552/2553 อีกจำนวน 14 ลำ วงเงินลงทุนรวม 96,355 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.เครื่องบินแบบ Airbus A380 จำนวน 6 ลำ
2.เครื่องบินแบบ Airbus A 340-500 จำนวน 1 ลำ
3.เครื่องบินแบบ Airbus A 340-600 จำนวน 1 ลำ
4.เครื่องบิน โบอิ้ง 777 200-ER จำนวน 6 ลำ

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

สรุปรวมในช่วงรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เฉพาะแค่เดือน ส.ค. 2546 – พ.ย. 2547 ได้ร่วมกันเห็นชอบการจัดซื้อเครื่องบินจำนวนถึง 29 ลำ มูลค่ารวม 154,679 ล้านบาท ซึ่งก็รวมถึง แอร์บัส แบบ A340-500 และแบบ A340-600 จำนวน 10 ลำ

พร้อมข้อมูลประกอบว่า ในช่วงเวลาที่มีการอนุมัติจัดซื้อทั้ง 29 ลำ ดังกล่าวนั้น ผู้นำทำหน้าที่เป็นประธานบอร์ด บมจ.การบินไทย ในขณะนั้น คือ นายทนง พิทยะ ส่วนผู้ทำหน้าที่เป็น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ดีดี บมจ.การบินไทย คือ นายกนก อภิรดี 2 ใน 4 ผู้ถูกกล่าวหาชุดแรกของป.ป.ช.

 

และมีข้อเท็จจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่า เป็นการจัดซื้อที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับ บมจ.การบินไทย อย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่เป็นข่าวฉาว แสดงให้เห็นกระบวนการจัดซื้อไม่ปกติ

จากกรณี Forbes Thailand ฉบับ เม.ย. 2557 นำเสนอปัญหาการเปิดเส้นทางการบินแอร์บัส A340-500 ว่าเป็นนโยบายเปิดเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก ด้วยเวลาการบิน 16 ชั่วโมง 50 นาที โดยไม่ต้องแวะพักเติมน้ำมัน เพราะใช้เครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ และมีการเปิดเที่ยวบินแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2548 แม้จะมีเสียงทักท้วงจากพนักงาน บมจ.การบินไทย ว่าสมรรถนะของเครื่องบินรุ่นนี้ไม่เหมาะและจะทำให้บมจ.การบินไทยขาดทุน แต่ข้อทักท้วงก็ไม่อาจต้านแรงผลักดันจากฝ่ายการเมืองได้

และส่งผลทำให้นับตั้งแต่เที่ยวบินปฐมฤกษ์จนยุติเที่ยวบินเมื่อ 1 กรกฎาคม 2551 รวม 38 เดือน ปรากฏว่าบมจ.การบินไทยขาดทุนไปกว่า 7 พันล้านบาท เนื่องจาก A340-500 มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันสูง เพราะมี 4 เครื่องยนต์ และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นหลายเท่าตัว

โดยอีกหนึ่งข้อเท็จจริง ปรากฎจากรายงานการประชุมคณะกรรมการบมจ.การบินไทย เมื่อ วันที่ 6 มิ.ย. 2551 ระบุด้วยว่าทางฝ่ายบริหาร ได้สรุป 5 สาเหตุ การขาดทุนและ ต้องตัดสินใจหยุดบินแอร์บัส A340-500

1.ต้นทุนน้ำมันสูงกว่าร้อยละ 50 มากกว่าที่ประเมินไว้ในแผนว่าราคาน้ำมันอยู่ที่ 82 เซนต์/แกลลอน แต่ปี 2548 ราคาน้ำมันขึ้นไปที่ 1.62 เหรียญ/แกลลอน และในปี 2551 ปรับขึ้นไปเป็น 2.76 เหรียญ/แกลลอน
2.ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินเหรียญสหรัฐอ่อนตัว รายได้เมื่อแปลงค่าเป็นเงินบาทจึงลดลงมาก
3.เครื่องรุ่นนี้มี 215 ที่นั่ง แม้มีผู้โดยสารเต็มก็ยังขาดทุน
4.ความนิยมใช้เครื่องบินรุ่นนี้ทั่วโลกมีน้อย โอกาสขายได้ยากหรือราคาจะตกลงมาก
5.เส้นทางบินในตลาดอเมริกาเหนือมีการแข่งขันสูง การกำหนดราคาสูงเป็นเรื่องยาก
6.นอกจากอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูงแล้ว A340-500 ไม่เป็นที่นิยม เพราะหลังออกวางจำหน่ายไม่นาน Boeing ได้ออกรุ่นใหม่ที่ประหยัดน้ำมันกว่ามาแข่ง ทั่วโลกมียอดสั่งซื้อ A340-500 ไม่เกิน 30 ลำ ส่วนสายการบินที่ซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ทยอยปลดระวาง ทำให้ราคาตลาดเครื่องบินมือ 2 ตกลงมาก ส่วน Airbus ก็ได้ยกเลิกการผลิตรุ่นนี้ตั้งแต่ปี 2555 แม้แต่ Singapore Airlines ที่ซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ 5 ลำ ได้ตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการขายคืนผู้ผลิต แลกกับการซื้อเครื่องรุ่นใหม่ที่ใช้งานคุ้มค่ากว่าแทน

 

 

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏขึ้น จากการใช้อำนาจของระบอบทักษิณ ตัดสินใจซื้อฝูงบิน บมจ.การบินไทย โดยการใช้เรื่องการเปิดน่านฟ้าเสรีมาเป็นข้ออ้าง และสุดท้ายมูลหนี้ที่เกิดขึ้นจากการจัดซื้อเครื่องบิน ได้ย้อนกลับมาเป็นภาระหนี้สะสมของบมจ.การบินไทย จนถึงจุดไม่อาจจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และต้องตัดสินใจนำองค์กรที่เคยเป็นความภาคภูมิใจของพนักงานการบินไทย เข้าสู่แผนฟื้นฟู เพื่อให้พ้นจากสภาพล้มละลายทางธุรกิจ

ขณะที่ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย คนใหม่ล่าสุด แสดงความมั่นใจว่าปี 2566 บมจ.การบินไทย จะมีรายได้สูงกว่า 9 หมื่นล้านบาท จากความสามารถในการประกอบธุรกิจ และการเปลี่ยนแปลงฝูงบินให้มีขนาดเล็กลงแต่คุณภาพดีขึ้น ทั้งการดูแลต้นทุนและรายได้ให้เกิดความสมดุลสูงสุดและการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส A 350 เพิ่มเติมอีก 6 ลำ เพื่อขยายไฟลท์บิน จะเป็นไปในการลักษณะการเช่าดำเนินการ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเท่านั้น โดยไม่ได้เป็นการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ เพราะทุกอย่างยังเป็นการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ

“ขณะนี้การบินไทย ถือว่ามีความจำเป็นในการขายสินทรัพย์ของการบินไทยมีน้อยลง แต่ย้ำว่าสินทรัพย์ที่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ จะต้องทำการขายหรือเช่าต่อไป เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ถนนวิภาวดี , สำนักงานสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พิษณุโลก , เชียงใหม่ , อังกฤษ , อิตาลี , ฮ่องกง รวมถึงเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ไม่ได้นำมาทำการบิน เช่น โบอิ้ง 777 -300 แอร์บัส A340 และ A380 อีกอย่างละ 6 ลำ”

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เคาะวันแล้ว กกต. เปิดแผนงานเลือกตั้งนายก-สมาชิกอบจ.
"เคนโด้" นำ "กลุ่มผู้เสียหาย" ค้านประกันตัว "แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์" หวั่นคุกคามเหยื่อ
วัดพิบูลสัณหธรรม เตรียมจัดงานวันลอยกระทงเพื่อสมทบทุนบูรณะต่อเติมศาลาการเปรียญให้แล้วเสร็จ เพื่อใช้ประโยชน์ ในการประกอบศาสนกิจของวัด ใช้ประกอบพิธีในพระพุทธศาสนา
ชื่นชม หนุ่มใหญ่จิตอาสาชาวชะอำ จ.เพชรบุรี เดินลุยฝนเก็บขยะอุดตันตามท่อ เพื่อช่วยระบายน้ำท่วม
สุดเสียวกลางดึกช้างป่าบุกใจกลางชุมชนบ้านเกาะลอยซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ โฉบบ้านนักข่าวก่อนเข้าพังรั้วค่ายทหารพรานที่1306 เสียหาย ทำชาวบ้านผวาหวั่นอันตราย
หมูเด้ง เสี่ยงทายเลือกตั้งสหรัฐฯ ประธานาธิบดีอเมริกาคนต่อไป คือคนนี้ รอลุ้นจะใช่หรือไม่
"ทนายสมชาติ" พา "เจ๊อ้อย" เข้าให้ปากคำ "ตำรวจกองปราบฯ" เพิ่ม ปมเงิน 71 ล้านบาท
“ทนายตั้ม” โผล่พบตํารวจกองปราบฯ ชี้แจงปมเงิน 71 ล้านบาท
"ภูมิธรรม" มอง MOU44 กลไกที่ดีที่สุด ก่อนย้อน พปชร.ไปถาม "บิ๊กป้อม" เคยนำเจรจากัมพูชา ก่อนมาคัดค้าน
"ก.แรงงาน" เตรียมเปิดขึ้นทะเบียน "แรงงานต่างด้าว" รอบใหม่

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น