นายชูวิทย์ บอกว่า หน่วยงานและ “คนที่มีอำนาจ” ที่ต้องดูภาพรวมพนันออนไลน์ทั้งหมดในประเทศไทย มี 4 หน่วย คือ 1.กองบัญชาการไซเบอร์ 2.ศูนย์บัญชา การไซเบอร์ 3.กองบังคับการไซเบอร์ และ 4.นายพล จ.ไซเบอร์
นายชูวิทย์ บอกว่า ทั้งสามหน่วยงานแรกจ่ายตรงเต็ม ๆ แต่หน่วยที่ 4 จ่ายเศษ ๆ เพราะเดิมเคยอยู่ไซเบอร์ และรู้ช่องทางต่าง ๆ
โดยชูวิทย์ ยังยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่า สมมติว่าต้องจ่าย 10 แต่ขอจ่ายแค่ 2 นะ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นใคร หากพูดถึงกระบวนการนี้ ต้องไปพูดตัวที่เป็นตำรวจ เพราะการจับมาเก๊า 888 ไม่ใช่เว็บใหญ่ แต่พังเพราะผู้หญิง ขนาดไม่ใช่เว็บใหญ่ แต่หิ้วเงิน 500 ล้าน ไปให้นายพล จ.ช่วยวิ่งคดี และในมาเก๊า 888 ถือเป็นเจน 3 ถ้าเป็นเจนแรก ระดับเอ็ดดี้ ซึ่งกระบวนการนี้ ถูกซัพพอร์ตไปเลี้ยงดูตำรวจ
จากข้อมูลที่นายชูวิทย์แฉจนนำไปสู่การขยายผลนั้น เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดมาแค่ปีนี้ แต่มีการวางรากลึกมานาน จนเกิดคำถามว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำไมปล่อยให้มีการทำอาชญากรรมออนไลน์อย่างโจ่งครึ่มแบบนี้
สำหรับ หน่วยงานที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ ก็จะมีหน่วยงานนอกเหนือจากตำรวจ ก็คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ให้ นำข้อมูล ประสานตำรวจเพื่อดำเนินการเอาผิด และได้นำสำนวนเสนอศาลปิดกั้นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย
ส่วนอำนาจจับกุมคือ ตำรวจ ในอดีตสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีส่วนราชการระดับ “กองบังคับการ” ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะด้านที่รับผิดชอบคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี (บก.สสท.) สังกัดสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิด และมีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ป้องกัน ปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่โครงสร้างในลักษณะดังกล่าวยังไม่สามารถรองรับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักรและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นได้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยการจัดตั้งหน่วยงานระดับ “กองบัญชาการ” ขึ้นใหม่ คือ “กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)” หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์” ขึ้นมา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563
มีอำนาจหน้าที่ เช่น เป็นฝ่ายอำนวยการด้านยุทธศาสตร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการวางแผน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และการเสนอแนะการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วราชอาณาจักร ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายอื่น อันเป็นความผิดทางอาญาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ดำเนินการเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือพิเศษ ปัจจุบัน “กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์” รับผิดชอบสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานในคดีที่มีความซับซ้อนหรือเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ได้แก่
1. คดีเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป
2. คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีจำนวนผู้เสียหายรวมกันตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
3. คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีทั้งมูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาทขึ้นไปและมีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
4. คดีที่มีการกระทำความผิดเป็นขบวนการหรือกลุ่มบุคคลซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน
5. คดีที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
6. คดีที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
7. คดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ
ในช่วงที่ตั้ง บช.สอท.นั้น เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ในขณะนั้น ได้ตั้ง 11 นายตำรวจเพื่อรักาการกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ โดยมี พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง จเรตำรวจ(สบ.8) เป็นรักษาราชการแทน ผบช.สอท. และก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็น ผบช.คนแรก อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ในยุคที่การสื่อสารออนไลน์ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก
ในครั้งนั้น พล.ต.ท.กรไชย แถลงนโยบายไว้ว่า ใน 1 ปี จะรับแจ้งความอย่างสมบูรณ์แบบทุกคดี ทุกเรื่อง และ ในอนาคต บช.สอท.จะมีกองบังคับการต่าง ๆ ตั้งอยู่ทั่วประเทศ อาทิ ภาคกลาง กทม. ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ภาคอีสาน จ.ขอนแก่น ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และ ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อรองรับในการร้องทุกข์ของประชาชน
สำหรับประวัติ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ชื่อเล่น แจง เกิดเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2509 อายุ 57 ปี มีพี่น้อง 4 คน รับราชการตำรวจทั้งหมด ประกอบด้วย พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง อดีตรอง ผบช.ทท. / พล.ต.ต.พงศ์อานันท์ คล้ายคลึง ผบก.น.9 / พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.2 / และ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง
พล.ต.ท.กรไชย ศึกษาในระดับต้น โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เตรียมทหารรุ่น 25 โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 41
ตำแหน่งสำคัญ ผู้กำกับการ7 กองบังคับการตำรวจน้ำ ,ผกก.ปทส. (ภาคกลาง-ตะวันออก) ,รองผู้บังคับการกองปราบปราม , ผบก.ปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) ,จเรตำรวจ(สบ.8), ผบช.สอท. และล่าสุด ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ภายหลังดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ก่อตั้งกองบัญชาการ นับเวลารวมร่วม 2 ปี กระทั่งมีการแต่งตั้งตำรวจระดับ นายพล วาระประจำปี 2565
เก้าอี้ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ท.กรไชย ผบช.สอท. (นรต.41) ถูกดันขึ้น ผู้ช่วย ผบ.ตร. ตำแหน่งนี้จึงตกมาถึงมือของ พล.ต.ต.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา รอง ผบช.ก.
ซึ่งหากเทียบผลงานในการติดตาจับกุมเว็บพนันออนไลน์ เว็บหนังออนไลน์ หนังโป๊ ในครั้งที่ ตร.สอท.ได้จับกุม กับ หน่วยงานจากกองปราบปราม หรือที่ คุณดิว อริสรา แฉ มาเก๊า888 นั้นช่างแตกต่างกันอย่างมาก ในจำนวนมูลค่าการกระทำความผิด ยกตัวอย่างเช่น
วันที่ 8 ธันวาคม 2563 ตำรวจไซเบอร์บุกจับเครือข่ายพนันออนไลน์ใหญ่ระดับประเทศคาบ้านหรู ใน ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จับกุมพนักงานดูแลเว็บไซต์พนันออนไลน์รวม 80 คน พบเงินหมุนเวียนกว่าพันล้านบาท
วันที่ 15 มกราคม 2564 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แถลงข่าวผลการปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ ในรอบ 3 เดือน จับพนันออนไลน์ 59 ครั้ง พบเงินหมุนเวียนกว่า 3 หมื่นล้านบาท
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ตำรวจไซเบอร์ จับเว็บพนันออนไลน์ ใช้โลโก้ “โครงการคนละครึ่ง” ชวนเล่นการพนัน ใช้เว็บไซต์ Okaybet โดยจับกุมผู้ต้องหาเป็นหญิงสาว อายุ 31 ปี พร้อมยึดของกลาง เป็น โทรศัพท์มือถือ / เครื่องคอมพิวเตอร์ และซิมการ์ด ก่อนนำส่ง พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง ดำเนินคดีตามกฎหมาย
วันที่ 5 มีนาคม 2564
– จับกุมเว็บพนันออนไลน์เครือข่าย UFA ขอนแก่น เข้าตรวจค้น 4 จุด ในจังหวัดขอนแก่น จับผู้ต้องหา 18 ราย ยึดของกลาง และพบเงินหมุนเวียนมากกว่า 1,000 ล้านบาท
– ทลายเครือข่ายเว็บพนัน แอฟพลิเคชัน Royal Slot 777 Casino ที่เปิดให้เล่นพนันออนไลน์ โดยตรวจค้น 7 จุด ใน 8 จังหวัด จับกุมผู้ต้องหา และของกลาง
– จับกุมคดี Shopping Mall ที่มีผู้เสียหายมากกว่า 4,700 คน มูลค่า 1 ร้อยล้านบาท สามารถจับกุมผู้ต้องหาชาวต่างชาติได้ 4 คน
– จับกุมในคดีเกี่ยวกับการอนาจารเด็กในโลกออนไลน์ที่นำเด็กอายุ 15 – 18 ปี มาไลฟ์สด และค้าประเวณี ผ่านแอปพลิเคชัน Mlive รวมไปถึงคดีประเภทแอบถ่ายใต้กระโปรง โดยสามารถยึดของกลางเป็นมือถือ พร้อมคลิปแอบถ่ายมากกว่า 10,000 คลิป ก่อนจะนำมาเผยแพร่ในโซเชียล โดยเฉพาะเว็บไซต์ของประเทศรัสเซีย
4 มี.ค.65 ตำรวจไซเบอร์บุกจับเว็บพนันออนไลน์ย่านทวีวัฒนา พบมีเงินหมุนเวียนต่อเดือนกว่า 200 ล้านบาท
6 พ.ค.65 ตำรวจไซเบอร์ เปิดปฏิบัติการกวาดล้างพนันออนไลน์ทุกรูปแบบพร้อมกันในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, จันทบุรี, ชลบุรี, นครราชสีมา, มหาสารคาม, เชียงใหม่, ลำปาง, ตาก, สุราษฎร์ธานี สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้กว่า 30 ราย ลักลอบจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ เปิดเว็บพนันออนไลน์ จำนวน 7 เว็บ ได้แก่ www.kingroyal333.net, www.mc911.bet, www.squid899.com, www.789coinbet.net, https://slottt888.com/, http://เศรษฐีหวย888.com และ Tode352.com / จัดให้มีการพนันสลากกินรวบทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ก / จัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ ผ่าน Line Official บัญชีผู้ใช้ชื่อ “ห้องซื้อดาราเฮง23” , “บ้านเถ้าแก่น้อย” , “ห้องซื้อleiv’899” และ “ห้องซื้อ เถ้าแก่น้อย” / ชักชวนให้เข้าเล่นการพนันออนไลน์ฯ ได้แก่ Aqua888 Thailand, www.mallo888.com / และลักลอบเล่นการพนันออนไลน์ฯ พร้อมทั้งตรวจยึดของกลาง รถยนต์กระบะ 1 คัน ,รถจักรยานยนต์ 2 คัน ,คอมพิวเตอร์ 22 เครื่อง ,โทรศัพท์มือถือ 33 เครื่อง และพบยอดเงินหมุนเวียนรวมกว่า 240 ล้านบาท
17 พ.ค.65 การบุกทลายเครือข่ายพนันออนไลน์ รวบ 10 แอดมิน ในบ้านพักย่านห้วยขวาง ได้ของกลาง จอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รถจักรยานยนต์ 5 คัน จากการลักลอบเปิดเว็บพนันชื่อ rome789.net และ reddragon888 com เบื้องต้นเว็บไซต์นี้มีเงินหมุนเวียนเดือนละ 20 ล้านบาท
28 ต.ค.65 PCT ร่วมกับ สตม.-บช.ทท.-บช.สอท. เปิดปฏิบัติการทลายแก๊งเว็บพนันแดนมังกร ลักลอบเปิดเว็บพนัน จับกุมแอดมินเว็บ 50 คน เงินหมุนเวียน 500 ล้านบาท
ว่ากันตามความจริงหากช่วงหลังๆ ไม่มีการจับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์ ของ “อั้ม” สามีนางเอก แยม ธมลพรรณ์ ภานุชิตพุทธิวงศ์ ของกองบังคับการปราบปราม และไม่มีการแฉความเชื่อมโยงการฟอกเงินของ “นอท กองสลากพลัส” กับแก๊งเจ้าของเว็บพนันออนไลน์ คงไม่ทำให้ดิว อริศรา สูดลมหายใจลึกๆ ออกมาแฉ พี่น้องตระกูล “บ” จนกลายเป็นข่าว “นารีพิฆาต” โด่งดังจนถึงทุกวันนี้
เพราะยิ่งเชื่อมโยง ยิ่งเห็นตัวละครชัดเจน โดยจอมแฉ อย่างนายชูวิทย์ ดูเหมือนจะรับไม้ต่อ ตีเหล็กเมื่อยังร้อน ด้วยการโพสต์แฉซ้ำว่า “มาเก๊า 888” เรียกว่าแค่ไซส์ S เพราะไซส์ L คือ “สารวัตรซัว แห่งเป็นต่อกรุ๊ป” เติบโตมีเงินหมุนเวียนเป็นหมื่นใช้คอนเน็คชัน “โรงเรียน ภ.ป.ร. สามพราน” เชื่อมต่อถึง นายพล “จ” ศิษย์เก่า ภ.ป.ร. เหมือนกัน และใช้แต่ลูกน้องหัวกะทิ ที่ล้วนจบ ภ.ป.ร. ทั้งสิ้น สุมหัวทำพนันออนไลน์ ตั้งแต่ยศร้อยตำรวจตรี ยันวันนี้เป็นพันตำรวจโท มีทั้งจัดตั้ง “สหกรณ์” ของตัวเอง เปิดบริษัทบังหน้าเป็นสิบบริษัท ซื้อ “ลาลิซ่า” อาบอบนวด ที่กำลังเปิด ร่วมหุ้นกับ “กำพล วิคตอเรีย” คนหนีคดีค้ามนุษย์ มีหมายจับ แต่ดันมีนัดกินข้าวกับอดีต ผบ.ตร. “ส” กลางโรงแรมดัง ย่านรัชดาเป็นประจำ
เรื่องนี้ฝ่ายที่ถูกแฉชื่อ ทั้งนายพล จ. และ อดีต ผบ.ตร. ส. ยังนิ่ง ๆ เงียบ ๆ แต่นายชูวิทย์ย้ำว่า เรื่องนี้สนุกแน่นอน เพราะล่าสุดคนที่ถูกแฉ ออกมาโทรศัพท์เพื่อเคลียร์ และที่สำคัญ ส่วนตัวเชื่อว่า ตำรวจไซเบอร์ บางคนที่มีอำนาจ และเห็นแก่เงิน นี่แหละคือรากเหง้าที่ทำให้การพนันออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นนี้