วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์รายงานว่า หลายคนรู้จักไข่เป็ดในเมนูอาหารคุ้นเคยประจำวัน อย่างไข่ลูกเขย หรือของหวานแบบไทย อย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เหตุผลที่ต้องใช้ไข่เป็ด เนื่องจากมีคุณสมบัติฟองใหญ่ เหนียว ไข่แดงสีเข้มช่วยสร้างรสชาติ สีสันให้น่ากิน นอกจากนั้น ยังมีเปลือกหนาจึงมักนำไปแปรรูปเป็นไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า
ในวันนี้ตลาดไข่เป็ดเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากสภาพสังคมที่ผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้น อีกทั้งรูปแบบการนำไข่เป็ดไปปรุงเมนูอาหารคาวหวานมีความหลากหลายมากขึ้น จึงทำให้อาชีพเลี้ยงเป็ดไข่เพิ่มขึ้น ทั้งยังพัฒนาไข่ให้มีคุณภาพความปลอดภัยด้วย เพราะวงการนี้แข่งขันกันสูงมาก
นายอัตตชัย ชมชื่น หรือลุง เเต๊ป อายุ 62 ปี เเละคุณป้าเยือน ชมชื่น อายุ 62 ปี 2 สามีภรรยาได้ทำฟาร์มเลี้ยงเป็ดไข่ อยู่ที่บ้านเลขที่ 28 หมู่ที่ 4 ตำบลตาตุม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เลี้ยงเป็ดโดยอาศัยหลักธรรมชาติ บริหารจัดการฟาร์มเป็นระบบภายใต้การเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพอาหาร น้ำ สุขอนามัย จึงได้ไข่เป็ดที่สมบูรณ์ มีขนาดมาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นที่ต้องการของตลาดในพื้นที่หลายจังหวัด
คุณลุงเเต๊ป เผยว่า ตนมีลูกชาย 2 คน กำลังเรียนมหาลัย ตน เลี้ยงเป็ดไข่มา 2 ปีเเล้ว เมื่อก่อนเคยทำหลายอาชีพ เน้นเรื่องการเกษตร ปลูกมันสำปะหลัง ทำไร่ทำนา แล้วหันมาเลี้ยงเป็ดไข่ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 จากการชักชวนของน้องชาย เพราะมองว่าไข่เป็ดอยู่ในห่วงโซ่อาหารที่จำเป็น ทั้งยังมองว่าผลผลิตไข่เป็ดในท้องตลาดมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด ก้าวแรกของการเลี้ยงเป็ดไข่ยังไม่มีความรู้มากนัก ลูกชาย จึงหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต พร้อมกับการศึกษาดูของจริงหลายแห่ง แล้วลงมือปฏิบัติด้วยการปรับเล้าหมูให้เป็นโรงเลี้ยงเป็ดแล้วซื้อเป็ดมาจำนวน 6,500 ตัว / 2 เรือน แม้ว่าระยะเริ่มต้นผลผลิตออกมาไม่ดีนัก ยังไม่เข้าใจวิธีเลี้ยงและดูแลอย่างดีพอ แต่จากประสบการณ์ที่เคยเลี้ยงหมูมาก็พอจะเข้าใจพื้นฐานจึงไม่ได้ทำให้ถึงกับขาดทุน
ความจริงตลาดไข่เป็ดมีวางขายทั่วไป แต่ถ้าต้องการขายไข่เป็ดให้มีราคาดีและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในระยะยาว ลุงเเต๊ป มองว่า ควรเลี้ยงเป็ดอย่างมีคุณภาพ มีมาตรฐานดีกว่า และคุณภาพในความหมายของเขาคือต้องเป็นเป็ดคุณภาพ เลี้ยงด้วยระบบตามกระบวนการอย่างมีคุณภาพ จึงทำให้ได้ผลผลิตไข่ที่มีคุณภาพตามมา
ปัจจุบันลุงแต๊ป เลี้ยงเป็ดไข่จำนวน 6,500 ตัว ใช้พื้นที่เลี้ยงประมาณ 10 ไร่ แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นโรงออกไข่ โรงนอน สระเลี้ยงปลา 5 ไร่ เพื่อให้เป็ดลงไปเล่นน้ำผ่อนคลาย บ่อน้ำที่สร้างขึ้นมีความสอดคล้องกับจำนวนเป็ด ไม่สร้างใหญ่เกินไปเพราะเป็ดจะเล่นแต่น้ำจนเพลินไม่ยอมกินอาหารและออกไข่ ส่วนน้ำดื่มจะใช้ท่อ PVC ขนาด 6 นิ้วผ่าครึ่งทำเป็นรางใส่น้ำ ควบคุมปริมาณน้ำด้วยลูกลอย เพื่อให้เป็ดดื่มน้ำโดยไม่ขาด และภาชนะใส่อาหารใช้ท่อรางพลาสติกผ่าครึ่ง ส่วนไข่เป็ดที่ได้หลังคัดแยกขนาดแล้วก็เตรียมส่งตามออเดอร์ทุกๆวัน
การให้อาหารเป็ดไข่ก็ใช้อาหารสำเร็จรูป เป็นอาหารสำหรับเป็ดไข่ที่มีอัตราโปรตีนตามที่ต้องการ เหตุผลที่ใช้อาหารประเภทนี้เพราะสามารถควบคุมคุณภาพ ราคา และปริมาณที่ใช้ได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญอาหารชนิดนี้ทำให้เป็ดออกไข่ที่มีคุณภาพ ไข่แดงสีเข้มสวย เปลือกหนา (เหมาะกับการแปรรูป) ขนาดรูปลักษณ์ของฟองไข่ได้มาตรฐาน ที่สำคัญไม่มีกลิ่นคาว แนะว่าอาหารที่ถูกจะไม่มีคุณภาพหรือช่วยประหยัดเลย แต่อาจสิ้นเปลืองมากกว่าอาหารคุณภาพที่มีราคาสูงขึ้นกว่าเล็กน้อย เพราะเป็ดกินอาหารทั้งวัน อาจกินอาหารที่ด้อยคุณภาพมากกว่าเดิม
สำหรับการให้อาหารจะให้วันละ 2 ครั้ง คือตอนเช้าและบ่ายแก่ๆ โดยเทอาหารใส่ภาชนะในปริมาณที่เหมาะสมก่อนแล้วค่อยปล่อยให้เป็ดกิน จากการคำนวณพบว่ากินอาหารเฉลี่ยต่อวัน 120-160 กรัม ต่อตัว อาหารที่ซื้อมีขนาดถุงละ 30 กิโลกรัม ราคาประมาณ 530-550 บาท อัตราการใช้อาหารต่อวันสำหรับเป็ด 6,500 ตัว ใช้ 8-9 ถุง ต่อวัน หรือเป็นเงินประมาณวันละ 12,000 กว่าบาท หลังจากให้อาหารแล้วไม่ควรเข้าไปยุ่งในบริเวณนั้น ควรปล่อยให้เป็ดกินอาหารแบบสบายๆไม่กังวลซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพและการออกไข่ ส่วนน้ำกินใช้น้ำบาดาลเพราะเป็นน้ำที่ปลอดภัยจากสารตกค้าง
หลังจากเริ่มมืดจึงต้อนเป็ดเข้าโรงนอนเพื่อพักผ่อนและออกไข่ เป็ดจะออกไข่ตั้งแต่ 5 ทุ่มจนถึงตี 4 โดยทางฟาร์มเตรียมลังและโครงไม้เพื่อให้เป็ดวางไข่ แล้วเก็บในช่วงประมาณ 6 โมงเช้า ปัจจุบันฟาร์มสามารถให้ผลผลิตไข่เป็ดได้วันละประมาณ 5,000 ฟอง ทำรายได้ต่อเดือนกว่า 100,000 บาท
โดย คุณลุงแต๊บ ยังได้วางเป้าหมายการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต้องการขยายจำนวนสมาชิกให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งยังวางแผนเปิดตลาดต่างประเทศ คือประเทศกัมพูชา หากพิจารณาว่ากลุ่มมีกำลังและศักยภาพการผลิตที่ได้มาตรฐานและปริมาณเพียงพอ
ท้ายนี้ลุงเเต๊ป แนะนำสำหรับคนที่มีแผนจะเลี้ยงเป็ดไข่ว่า ไม่ควรหาซื้อพันธุ์ตามที่ขายทั่วไป ควรเลือกซื้อจากแหล่งเพาะ-ขายที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ แม้จะต้องเพิ่มเงินบ้างก็ถือว่าปลอดภัยและคุ้มกว่า ถ้าให้มั่นใจกว่านั้นก็เดินทางไปดูเป็ดที่จะซื้อที่ฟาร์มนั้นด้วยตัวเอง รวมถึงใกล้ชิดกับการขนส่งด้วย ควรบริหารจัดการภายในฟาร์มอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ดูแลเครื่องมืออุปกรณ์ให้มีความสะอาด ปลอดภัย รวมถึงสถานที่เลี้ยงต้องให้สะอาดด้วย บริเวณภายในฟาร์มและโดยรอบควรโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่เป็นที่สะสมเชื้อโรค การขาดทุนหรือกำไรขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงที่เลือกใช้พันธุ์เป็ดคุณภาพ มีการจัดการในฟาร์มที่ได้มาตรฐาน
นายสันติ โอฆะพนม นายอำเภอสังขะ กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า การเลี้ยงเป็ดไข่ ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพเกษตรกรรม ที่นำวิธีการเลี้ยงเป็ดแบบธรรมชาติมาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีเพื่อสร้างผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดนำมาสู่การเพิ่มยอดขาย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร วันนี้ทางอำเภอสังขะ และเกษตรอำเภอสังขะ ได้มาเยี่ยมให้กำลังใจเกษตรกร และมาดูวิธีการเลี้ยงเป็ดไข่ ซึ่งทางอำเภอสังขะจะได้ประสานงานไปยังพ่อค้าแม่ค้าและช่วยขยายช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังจะรับไข่เป็ดไปจำหน่ายในตลาดเขียวที่อำเภอสังขะจัดขึ้น เพื่อสนับสนุนเกษตรกรอีกทางหนึ่ง และตอนนี้เกษตรอำเภอสังขะ ได้จัดอบรมการขายสินค้าทางออนไลน์ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขายสินค้าให้กับกลุ่มเกษตรกรอีกด้วย ส่วนใครที่สนใจสั่งไข่เป็ดสามารถสอบถามรายละเอียดสั่งซื้อไข่เป็ดได้ที่คุณลุงเเต๊ป โทรศัพท์ 087-3777329 : ไข่เป็ดลุงเเต๊ป หรือ facebook ผู้ใหญ่ขนาดมอญ เพจ”ไข่เป็ดไข่ไก่บ้านขนาดมอญ
ภาพ/ข่าว พูนสิน ยั่งยืน ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.สุรินทร์