เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 7 เม.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงการระบาดโควิด19 ปีนี้ ว่า ปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมานั้น พบว่าปีที่ผ่านมาการระบาดระลอกแรก เกิดขึ้นระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งตรงกับปีนี้ โดยปีที่แล้วระบาดทั้ง 2 เดือน มีผู้ป่วยทั้งสิ้นระลอกแรกประมาณ 3 พันคน โดยวันที่พบมากที่สุดคือ 188 คน โดยวันนั้นเป็นผู้ป่วยที่กลับมาจากพิธีกรรมทางศาสนาจากอินโดนีเซีย โดยปีที่แล้วผู้ป่วยเฉลี่ยหลักสิบ แต่ปีนี้ การระบาดเริ่มกลางเดือนธ.ค.2563 มาจนขณะนี้ยังไม่ยุติ จนกระทั่งเกิดการระบาดระลอกใหม่ เรียกว่าเป็นระลอกซ้อนระลอก ที่เกิดในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในสถานบันเทิง
“เราก็สงสัยว่าทำไมในสถานบันเทิงจึงมีผู้ป่วยจำนวนมาก และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เรียกว่าเป็นซูเปอร์สเปรดก็ได้ เพราะในสถานบันเทิงเป็นที่อับ ปกปิด อากาศไม่ถ่ายเท ซึ่งระยะหลังมีหลักฐานว่า หากอยู่ในสถานที่ปิด โรคนี้จะแพร่กระจายได้แม้กระทั่งในอากาศ หรือการหายใจ เพราะมีหลักฐานจากการร้องเพลงในโบสถ์ ไม่ได้สัมผัสกันก็ติดเชื้อได้ ยิ่งมีการดนตรี ร้องเพลงเสียงดัง พูดสเยงดัง โอกาสเชื้อกระจายลอยในอากาศก็ติดได้ ซึ่งครั้งแรกผมคิดเช่นนี้ แต่เมื่อหลังจากการตรวจปริมาณไวรัสในคอผู้ป่วย จากการสว็อปเชื้อไปนั้น ก็เริ่มเห็นความผิดสังเกต เพราะปริมาณไวรัสในตัวผู้ป่วย แม้ไม่มีอาการ แต่มีปริมาณไวรัสค่อนข้างสูงมาก จากนั้นเราก็รีบทำการตรวจอย่างรวดเร็ว โดยใช้ตัวชี้นำ ตรวจจำเพาะว่า อันนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์พื้นบ้านของเรา แต่เมื่อตรวจก็ตกใจ เพราะผู้ป่วย 24 คนที่ผมตรวจ โดยได้เชื้อมาจากทองหล่อ พบว่า เป็นสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์เดียวกันทั้งหมด” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า สำหรับสายพันธุ์อังกฤษ B117 เริ่มต้นตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค. พบว่า สายพันธุ์นี้แพร่ระบาดเร็วมาก ติดต่อกันง่าย และเร็วมากกว่าสายพันธุ์ธรรมดา 1.7 เท่า เพราะปีที่แล้วบ้านเราระบาดในสายพันธุ์ S จากนั้นก็ระบาดเป็นสายพันธุ์ L และสายพันธุ์ G ซึ่งสายพันธุ์ G ระบาดเร็วมากจึงครองโลกอยู่ขณะนี้ โดยการระบาดในเวฟที่ 2 ของไทยก็เป็นสายพันธุ์ G อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์อังกฤษแพร่ระบาดอย่างหนักในยุโรป ทั้งเยอรมัน ฝรั่งเศส โดยกลับมามีระลอกที่ 3 และเริ่มมีการล็อกดาวน์กันใหม่ แต่อังกฤษ แม้จะมีสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนมากที่สุดในยุโรป ทำให้เคสในอังกฤษลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน อัตราการเสียชีวิตก็ลดลงมาก
“สายพันธุ์อังกฤษที่เรากลัวคือ แพร่กระจายได้เร็วมาก จึงไม่แปลกที่เห็นว่าสถานบันเทิงแพร่ได้รวดเร็วมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเราคาดคะเนว่าปีนี้จะระบาดมากกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า เพราะตัวเลขหลักร้อย ปีที่แล้วหลักสิบ แต่ขณะเดียวกันมาตรการของเราในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่เรามีล็อกดาวน์ มีเคอร์ฟิว มีห้ามขายเหล้า มีการปิดห้างสรรพสินค้า ปิดโรงเรียน ปิดสารพัด เลื่อนสงกรานต์ ซึ่งมาตรการของปีนี้และปีที่แล้วย่อมห่างกัน 10 เท่า ดังนั้น เมื่อเชื้อมากกว่า 10 เท่า และมาตรการต่างๆ ลดหย่อนลงมาอีก 10 เท่า โอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายอีก 100 เท่า และเมื่อเจอสายพันธุ์อังกฤษแพร่กระจายง่ายอีกถึง 1.7 เท่า พูดง่ายๆ ความเสี่ยงจะเป็น 170 เท่า ทวีคูณไปกันใหญ่” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า จึงทำให้กลัวว่า หลังสงกรานต์ หรือช่วงสงกรานต์โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว การติดเชื้ออาการน้อย แต่มีปริมาณมาก และเราเดินทางไปไกลโดยไม่รู้มีไวรัสอยู่ และเมื่อเรากลับบ้านช่วงสงกรานต์ เราอาจนำเชื้อไปสู่ผู้ใหญ่ที่บ้านได้ และหากพวกท่านติดเชื้อ คนสูงวัยกว่าจะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น ตนจึงเป็นห่วงมากในเรื่องการเดินทาง ยิ่งสายพันธุ์อังกฤษหลุดมาได้อย่างไร ทั้งที่เรามีมาตรการควบคุม มีการกักกันโรคแล้ว ดังนั้น ขอให้ทุกคนยิ่งช่วงสงกรานต์ ใครไม่มีความจำเป็นก็ลดการเคลื่อนย้ายการประชากร แต่หากวางแผนล่วงหน้า จำเป็นต้องไปต้องมีมาตรการทุกอย่างให้เคร่งครัด ตั้งแต่การออกจากบ้าน ไม่ว่าจะขึ้นรถ ไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด มีระเบียบวินัย หากทุกคนช่วยกันจะช่วยควบคุมโรคได้
ศ.นพ. ยง กล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนโควิด ณ ขณะนี้ จะคุมสายพันธุ์อังกฤษได้หรือไม่ ว่า สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ทั่วโลกที่ต้องระวัง มี 3 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์บราซิล โดยสายพันธุ์อังกฤษแพร่ได้เร็ว แต่วัคซีนยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ส่วนความรุนแรงของโรคก็เหมือนเดิม เพียงแต่การแพร่กระจายการระบาดติดได้ง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงเหมือนเดิมหมด ดังนั้น วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพ
ศ.นพ.ยง กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ 5 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดง ว่า จริงๆตนเห็นด้วย เพราะตอนนี้การระบาดในกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก และการระบาดรุ่นใหม่เกิดในคนอายุน้อย และมีจำนวนมากที่ไม่ค่อยมีอาการ หรือมีอาการน้อย จึงเป็นการยากจะรู้ว่าใครป่วยหรือไม่ป่วย