"ปิดอ่าวไทย" กรมประมง ประกาศปิดอ่าวไทย ประจำปี 2566 ทั้งหมด 5 ช่วงเวลา ห้ามทำประมงทุกชนิด ยกเว้นใช้เครื่องมือประมงที่กำหนด ฝ่าฝืนปรับสูงสุด 30 ล้าน
ข่าวที่น่าสนใจ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวไทย ประจำปี 2566 ตามมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ มีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูและสัตว์น้ำมีไข่ให้แพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน
โดยครอบคลุมพื้นที่บริเวณอ่าวไทยทั้งหมด ตั้งแต่พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยแบ่งเป็นช่วงเวลา ดังนี้
- 1. บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง
คือ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2566 ปิดตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2566 ในบริเวณอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิด อ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- 2. บริเวณพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก 2
คือ ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2566 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร และระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในด้านเหนือของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
ทั้งนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงทุกชนิดในช่วงฤดูปลามีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ยกเว้นเครื่องมือประมงบางชนิดตามระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่กำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง สามสิบล้านบาท โดยขึ้นอยู่กับขนาดเรือประมง หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำ ที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่าและต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย
สำหรับผลจากมาตรการปิด อ่าวไทย ในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า มีปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยได้มากถึง 31,999 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,156 ล้านบาท มากกว่าการจับในปี 2564 ถึง 12,402 ตัน มูลค่า 780 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 63.28 ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันดีที่แสดงถึงความเหมาะสมของการใช้มาตรการปิด อ่าวไทย อย่างต่อเนื่อง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง