เนื่องจากเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม กีดกันทางการค้า ขัดต่อแนวทางปฏิบัติในการคัดเลือกเอกชนในโครงการร่วมทุนอื่น ๆ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ของเอกชนบางราย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย เป็นเหตุให้ทางผู้ถูกร้อง หรือ คณะกรรมการตามมาตรา 36 และ รฟม. นำคดีมาอุทธรณ์ฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด
และกรณีดังกล่าว มีรายงานเพิ่มเติมว่า ตุลาการผู้แถลงคดีได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีพิพาทดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว และมีสาระสำคัญว่าด้วยการกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยการยกคำร้องของ บีทีเอสซี ที่ผ่านมา โดยมีสรุปดังนี้
1.คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
2. การใช้ดุลพินิจยกเลิกการคัดเลือก เป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเพื่อให้โครงการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ตามกรอบระยะเวลา อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนในการจัดทำบริการสาธารณะแล้ว
ดังนั้น เมื่อการยกเลิกการคัดเลือกชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ตุลาการผู้แถลงคดีจึงเห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยเห็นควรให้ยกฟ้อง
อย่างไรก็ตามความเห็นดังกล่าว แม้จะไม่ถือเป็นความเห็นของตุลาการองค์คณะ และความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นอิสระ ไม่มีผลตามกฎหมาย และไม่ผูกพันองค์คณะที่ต้องวินิจฉัยตามแต่อย่างใด โดยตุลาการองค์คณะยังสามารถพิพากษาเป็นอย่างอื่นได้ตามที่เห็นสมควร
แต่ทำให้เป็นที่คาดหมายว่า ศาลปกครองสูงสุดจะมีการอ่านคำพิพากษาในเร็ว ๆ นี้ รวมถึงอาจทำให้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เข้าสู่ขั้นตอนที่ผู้ว่าฯรฟม.ให้ข้อมูล คือ นำเสนอผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อ รมว.คมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติดำเนินการต่อไปก่อนสิ้นอายุรัฐบาลชุดนี้
ในทางตรงข้าม เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาถึงอนาคตโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีปัญหาคาราคาซังมาเกือบ 4 ปี ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีแนวโน้มจะมีรูปธรรมใด ๆ ในการตัดสินใจจากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี , กระทรวงมหาดไทย , คณะรัฐมนตรี และ กรุงเทพมหานคร จนทำให้มูลหนี้ปัจจุบันที่เกิดขึ้นการว่าจ้างให้ บีทีเอสซี บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย เพิ่มเป็นมากกว่า 40,000 หมื่นล้านบาท แม้ว่าศาลปกครอง จะมีคำพิพากษาให้ ทั้ง บริษัทกรุงเทพธนาคม และกทม. ดำเนินการชำระหนี้ พร้อมอัตราดอกเบี้ย นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม
ประเด็นสำคัญ แนวคิดเรื่องการเดินหน้าให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า , ช่วงอ่อนนุช-สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต-คูคต เริ่มต้นมาจากพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เป็นหัวหน้าคสช. ออกคำสั่งคสช. 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 โดยการใช้อำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โอนความรับผิดชอบ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) จากรฟม.ให้กทม.รับผิดชอบ ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นระบบเดียวกัน
พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการ ให้ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสม แนวทางการแก้ปัญหา ภายหลังการโอนย้ายความรับผิดชอบ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจาก รฟม.มาให้ กทม. และ ศึกษาแผนการร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างภาครัฐและเอกชน ด้วยเพราะการโอนย้ายโครงการดังกล่าว จะก่อให้เกิดภาระหนี้สินต้องรับภาระ 3 ส่วน คือ หนี้งานโยธาและดอกเบี้ยถึงปี 2572 , หนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล , หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยคิดเป็นค่าจ้างเดินรถเฉลี่ยประมาณเดือนละ 600 ล้านบาท
จนท้ายสุดคณะกรรมการชุดที่แต่งตั้ง โดยพล.อ.ประยุทธ์ ได้ประชุมศึกษาแนวทางการแก้ปัญหา จนมีข้อสรุปเห็นชอบเรื่องการขยายอายุสัมปทาน อีก 30 ปี ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BTSC ซึ่งเดิมจะครบกำหนดอายุสัมปทานในปี 2572 แลกกับการโอนภาระหนี้สินให้บริษัทเอกชน ส่วนผู้โดยสารจะได้รับประโยชน์จากค่าโดยสารที่ลดลง จากตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อการเดินทางตลอดสาย ระยะทาง 68.25 กม. ที่อัตราสูงสุด 158 ลดลงเหลือไม่เกิน 65 บาท
แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเห็นของคณะกรรมการฯที่แต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 44 และ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่สามารถหาข้อยุติ เกี่ยวกับอนาคตรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ ขณะที่มูลหนี้ที่บีทีเอสซี ต้องแบกรับมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน กระทั่ง ฝ่ายประชาสัมพันธ์รถไฟฟ้า “บีทีเอส” ตัดสินใจเผยแพร่คลิปสั้นความยาว 2 นาที กับการให้สัมภาษณ์ของ นายคีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ส์ จำกัด (มหาชน) ในการเรียกร้องทวงถามหาผู้รับผิดชอบให้รีบแก้ปัญหาการชำระหนี้ ให้กับ “บีทีเอสซี”
โดยระบุว่า ช่วงเวลาสามปีกว่า เกิดความเสียหายต่อบีทีเอสเป็นตัวเงินถึงสี่หมื่นกว่าล้านบาท ใครก็รับไม่ได้ ภาคเอกชน ผู้ลงทุน ต้องจ่ายทุกวัน ทั้งเป็นค่าใช้จ่ายให้พนักงาน ค่าไฟก็ต้องจ่าย
ถึงเวลาผู้มีอำนาจบริหารประเทศ ไม่ว่าเป็น กทม. หรือการเมืองของประเทศ ต้องเข้ามาดูได้แล้ว เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน ท่านใดที่อยู่ในอำนาจ ควรคิดได้แล้วว่าดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป ยังไงก็ต้องจ่าย มันเป็นสิ่งที่ใครเสียหาย ผมเชื่อว่า ประชาชน ภาษีเราเสียหาย อย่าปล่อยให้มันลอยไปลอยมาอย่างนี้ จะเอาอย่างไร
รวมถึงข้อความประกอบว่า “คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน… ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน… ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา อย่าหนีปัญหา…อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง ถึงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้านบาท”
และวันนี้ ทีมข่าวท็อปนิวส์ ได้ลงพื้นที่สอบถามความเห็นผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว อีกครั้ง ถึงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากใกล้ครบวาระการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และมีโอกาสสูงที่จะมีการประกาศยุบสภาในอีกไม่เกิน 30 วันข้างหน้า
ผู้โดยสารรายหนึ่ง ระบุว่า เรื่องนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ควรมีส่วนในการรับผิดชอบ เพราะตอนที่หาเสียง บอกว่าจะทำให้ค่าโดยสารถูกลง ประชาชนก็เลือกเข้ามาเยอะแยะทำไมกทม.ไม่จัดการ เพราะมีรายได้มาจากการบริหารจัดการ ควรจะชำระหนี้สินได้แล้ว ไม่ใช่ผลักภาระไปให้เอกชน ทั้งนี้ ต้องคุยกันในวาระเร่งด่วน ว่าจะจัดการอย่างไรกับหนี้สินของเอกชนที่เป็นหนี้เค้าอยู่ ต้องคุยกันเพื่อทำหนี้สินตรงนี้ให้หมดไป เอกชนเค้าก็ไม่ไหวเหมือนกัน เค้ารับภาระตรงนี้มานาน และมีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ มองว่า หากเรื่องทั้งหมดจบได้ในการตัดสินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ควรมาเคาะเรื่องนี้ให้เด็ดขาด
ผู้โดยสารรถไฟฟ้า ยังระบุด้วยว่า “ เห็นใจเอกชนมาก ถ้าเป็นเอกชนของบางที่เค้าจะหยุดเดินรถก็ได้ แต่นี่เค้าเห็นใจประชาชน เขาจึงเดินรถต่อ แล้วให้รัฐบาลกับผู้ว่ากทม. คุยกันเสียที ไม่น่าจะผลักภาระไปให้เค้าแบบนี้ “
ขณะที่ผู้โดยสารรถไฟฟ้า อีกรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า อีก 30 วันจะยุบสภา ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องตัดสินใจเด็ดขาด ใกล้ถึงเวลาเต็มที แต่ก็เพิกเฉย ประชาชนก็เครียด เรื่องนี้ก็สำคัญในการใช้ชีวิต ต้องเดินทาง ถ้ามีปัญหาอะไรขึ้นมา เอกชนหยุดเดินรถ คนเดือดร้อนก็คือประชาชนอยู่ดี ควรเลิกคิดเรื่องอื่นแล้วมาโฟกัสที่ประชาชน
“ มันไม่ไหวหรอก จะผลักไปเรื่อยๆ โดยที่ตัวเองไม่แก้ไขอะไรเลย มันก็ไม่ได้ มันไม่โอเค ควรรับผิดชอบตัดสินใจในตอนนี้เลย”
ทางด้านนักศึกษา รายหนึ่ง ซึ่งต้องใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อความสะดวกในการเดินทางในชีวิตประจำวัน คิดว่า “เรื่องนี้ เอกชนไม่ควรมาแบกรับภาระหนี้ เพราะไม่ได้เป็นคนก่อ ใครเป็นคนก่อ คนนั้นต้องรับผิดชอบ “
ถึงตรงนี้ต้องย้ำว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบใด ๆ ได้ทั้งสิ้น แต่ประเด็นคือ กับช่วงเวลาที่เหลืออีกเพียง 30 วัน การตัดสินใจแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะจบเสร็จสิ้นทันอายุรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ และมูลหนี้กว่า 40,000 ล้านบาท จากการตัดสินใจโอนย้ายความรับผิดชอบ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จาก รฟม.มากทม. จะได้รับการสะสางจากพล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ อย่างไร ทั้งหมดคือคำถามที่คนกรุงเทพฯ และประชาชนคนไทย ที่จะมีสิทธิ์มีเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่ อยากเห็นจากภาวะผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา