“การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติมาตรา 152” จบลงไปแบบไม่หวือหวา แค่ยังมีความดุเดือดเลือดพล่านเล็ก ๆ ให้เห็นในบางช่วงบางตอน ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตราเป็นกระบวนการที่ฝ่ายนิติบัญญัติร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับฝ่ายบริหาร และอาจเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจการบริหาร การใช้นโยบาย การเสนอแนะการทำงานปัญหาให้กับฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้นความเข้มข้นของการอภิปรายแบบไม่ลงมติจะสู้การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ เพราะไม่มีการโหวต ไม่มีใครย้ายข้าง ไม่มีใครได้เปรียบมาก ได้เปรียบน้อย ซึ่งการอภิปราย มาตรา 152 โดยธรรมดาแล้วเป็นการปรึกษาหารือและเปิดพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายมีเวทีได้เล่นในพื้นที่สาธารณะมากกว่า
อย่างไรก็ตามการอภิปรายครั้งนี้มองว่า แตกต่างจากการอภิปราย มาตรา 152 ที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะเป็นการอภิปรายครั้งท้ายๆ ก่อนรัฐบาลจะสิ้นอายุในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ และด้วยเหตุผลเช่นนี้ ทำให้การอภิปรายมาตรา 152 ของฝ่ายค้านมิได้มีจุดมุ่งหวังที่จะให้คำปรึกษาหรือหารือกับรัฐบาลแต่อย่างใด แต่เป็นการจ้อง “เปิดแผล”พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลก่อนเลือกตั้ง โดยเป้าจู่โจมหลักคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ “พรรครวมไทยสร้างชาติ“
ภาพรวมของการอภิปรายครั้งนี้มองว่าไม่ได้มีอะไรหวือหวา โดยจะเห็นว่าการเปิดประเด็นของฝ่ายค้านยังไม่สามารถดึงความสนใจให้กับประชาชนเท่าที่ควร เพราะส่วนใหญ่การอภิปรายจะเป็นเรื่องเดิมที่รับรู้กันมานานเปรียบเสมือนพายเรือในอ่าง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยยังเล่นการเมืองแบบเก่า บางช่วงบางตอนของการการอภิปรายกลับใช้เวทีดังกล่าว “หาเสียง” แบบไม่ถูกที่ถูกเวลา ขณะเดียวกันการอภิปรายของเพื่อไทยถูกสังคมตั้งคำถามกรณีทุนจีนสีเทา “ตู้ห้าว” ที่พรรคเพื่อไทยกระซวกรัฐบาลอย่างเข้มข้น แต่กลับไม่ได้พูดถึงปมบ้านหรูโครงการแกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด ของ “บริษัทเอสซี แอสเสท ตระกูลชินวัตร” ที่นายตู้ห้าวไปเหมาซื้อมากกว่า 50 หลัง
ศึกซักฟอกมาตรา 152 มีประเด็นที่ฝ่ายค้านอภิปรายได้อย่างน่าสนใจหลายเรื่อง เช่น กรณีพรรคก้าวไกลโดย “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พูดถึงประเด็นยาเสพติด โดยเฉพาะ นาย อ. ทรงเอ หนึ่งในผู้ร่วมขบวนการค้ายาเสพติดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)คัดเลือกเข้ามาเป็นส.ว.ชุดปัจจุบัน และที่น่าสนใจคือ ส.ว.คนดังกล่าวเป็นเจ้าของที่ดินซอยอารีย์ 5 ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงาน “พรรครวมไทยสร้างชาติ”
นอกจากนี้ยังมีประเด็น “การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่พรรคเพื่อไทย “จิราพร สินธุไพร” ส.ส.ร้อยเอ็ดอภิปรายฯ กรณีหลานชาย พล.อ.ประยุทธ์ เปิดบริษัทรับงานรับเหมาก่อสร้าง ตั้งบริษัทในค่ายทหาร หากินกับโครงการกองทัพต่อเนื่อง และยังมีเรื่อง ทุนจีนสีเทากรณีนำเข้ารถบริษัท “หลานชาย พล.อ.ประยุทธ์” ไปให้บริษัททุนจีนเช่าช่วงต่อ อีกทั้งยังปรากฏการนำรถโดยสารจากจีนเข้ามาไทยใช้เอกสารปลอมว่า นำเข้ามาจากมาเลเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี แต่ความจริงไม่มีการถอดแยกชิ้นส่วน ซึ่งเป็นสำแดงภาษีเป็นเท็จ นาย ห.-ตู้ห่าว-หลานประยุทธ์ เป็นกลุ่มเดียวกัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า นายตู้ห่าวเป็นคนจ่ายเงินให้หลาน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนอมินีทำธุรกิจถือเป็นการผิด พ.ร.บ.ปราบปรามการฟอกเงินหรือไม่
ขณะเดียวกันยังมีประเด็น “เรือหลวงสุโขทัย” โดย “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อก้าวไกล ตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องโดยสุจริต หรือเป็นความจงใจบกพร่องจากการทุจริตทีละน้อยที่มีการกินงบประมาณซ่อมบำรุง กำลังพลจำนวนหลายสิบล้าน ทำให้แม้แต่ผู้กระทำผิดเองก็คาดไม่ถึงว่าจะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมหาศาล จึงถือเป็นความไม่ใส่ใจของ พล.อ.ประยุทธ์