เหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ตบเท้าแฉกลโกง! พร้อมร่วมมือตำรวจ-เครือซีพี เร่งกระจาย ‘ไซเบอร์วัคซีน’ หยุดอาชญากรรมออนไลน์

กดติดตาม TOP NEWS

“เราอยากหางานที่มีเงินเยอะกว่าเดิมเลยเข้าไปที่เพจคนไทยหางานทำที่ปอยเปต และติดต่อเอเจนซี สมัครงานตำแหน่งพนักงานแพลตฟอร์มขายของออนไลน์  ทางเอเจนซี่ก็โทรกลับมาและบอกว่าจะให้เงินเดือน 3 หมื่นบาท เราเลยหลงกลและติดต่อไปทำงานด้วยที่กัมพูชาแต่ต้องเดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติ”

คำพูดข้างต้นคือความในใจของ “แคท” (นามสมมติ) หนึ่งในอดีต “แอดมินแก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่เคยโดนหลอกให้ไปหลอกคนไทยด้วยกัน แต่สุดท้ายก็หนีออกมาได้ และกลายเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการรู้ทันกลโกงของแก๊งมิจฉาชีพ

“พอไปถึงเขาบอกเลยว่าให้ทำแอปเงินกู้หลอกเงินคนไทยด้วยกันเอง ตอนนั้นเรากลัวมากๆ เขาให้สคริปต์มาอ่านภายใน 2 วันต้องหลอกให้ได้ เขาใช้วิธีการส่งข้อความ SMS รวมทั้งโทรหลอกให้เงินกู้ และทางเหยื่อก็จะติดต่อกลับมา เราไม่ยอมทำบ่ายเบี่ยงตลอด ก็ทั้งถูกบังคับ ข่มขู่ โดนให้อดข้าว อดน้ำ สุดท้ายก็พยายามหนีออกมากับคนไทยอื่นๆ ได้” แคทเล่าให้ฟังบนเวที “จุดกระแส On Stage : แฉสารพัดกลโกงมิจฉาชีพหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์”  ใน “พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือว่าด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อ สร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน

นอกจากแคทที่เป็นเหยื่อแล้ว บนเวทีนี้ที่ดำเนินรายการโดยพิธีกรชื่อดัง “กรรชัย กำเนิดพลอย” นั้น “โอม” (นามสมมติ) ก็เป็นอีกหนึ่งรายที่เจอกลโกงจากแก๊งมิจฉาชีพออนไลน์ โดนหลอกกดลิงก์ดูดเงินจากบัญชี จนหมดเงินกว่า 500,000 บาทภายในระยะเวลาไม่กี่นาที

“โจรออนไลน์โทรมาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร  ใช้วิธีอ้างโครงการคนละครึ่ง เขาให้ข้อมูลส่วนตัวได้ถูกต้องจึงหลงเชื่อ กดลิงก์ที่เขาส่งมาให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน พอกรอกข้อมูลเสร็จหน้าจอค้าง ก็รีบปิดมือถือ เและเปิดเครื่องใหม่อีกครั้งพบว่าเงินในบัญชีหายไปครึ่งล้าน”

แม้กระทั่งคนมีชื่อเสียงอย่าง “ตั๊ก – มยุรา เศวตศิลา” นักแสดงมากฝีมือ และ “เอก – ภาณุพงศ์ หอมวันทา” ยูทูบเบอร์เจ้าของช่อง Epic Time ก็ยังหนีไม่พ้นอาชญากรไซเบอร์เหล่านี้ ในเคสของตั๊ก- มยุราโดนมิจฉาชีพโทรมาอ้างกลโกงตลอด 10 ปี  และล่าสุดโดนคนอ้างชื่อค้ำประกันกู้เงินนอกระบบ ขณะที่ภาณุพงศ์ เจอแก๊งมิจฉาชีพใช้กลโกงหลอกให้ซื้อของในเกมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นคดีได้รับการแจ้งความมากที่สุด

ทุกกรณีตัวอย่างรวมถึงกรรชัย ล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือการหลอกลวงถูกดำเนินการผ่านโทรศัพท์ ฉะนั้นการเฝ้าระวังเหตุอาชญากรรมผ่านโทรศัพท์ ระบบออนไลน์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยการรู้เท่าทันกลโกงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และสติคือสิ่งที่ต้องมี

จากสถานการณ์ที่เหล่ามิจฉาชีพได้ใช้รูปแบบกลโกงแฝงเข้าไปในทุกวงการอาชีพและหลากช่องทางอย่างแยบยลอย่างที่เปิดเผยบนเวทีนั้น เห็นได้ชัดว่า ‘อาชญากรรมไซเบอร์’ คือเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและแก้ไขอย่างเร่งด่วน

สอดคล้องกับสถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เผยว่าจากเรื่องรับแจ้งความออนไลน์ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีผู้เสียหายจากการแจ้งความถูกหลอกในโลกออนไลน์ประมาณ 2 แสนเรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท

โดยพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า  “กลโกงออนไลน์ที่เป็นคดีมากที่สุดคือ คดีประเภทหลอกลวงซื้อขายสินค้า รองลงมาคือ หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้พิเศษจากการทำกิจกรรมทางออนไลน์ การหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน รวมไปถึงการหลอกหลวงจากขบวนการคอลเซ็นเตอร์ และการหลอกให้ลงทุน”

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ได้ย้ำว่า ปัจจุบันพบว่าอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือที่เรามักเรียกกันโดยทั่วไปว่าคดีออนไลน์ มีสถิติการรับแจ้งความเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางวันมียอดการรับแจ้งสูงถึง 1,000 เรื่อง ซึ่งถือเป็นภาวะวิกฤต

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ภาคเอกชนนำร่องรายแรกที่ตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมสื่อสารสร้างภูมิคุ้มกัน ‘ไซเบอร์วัคซีน’ ต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือซีพีได้ประกาศระดมสรรพกำลังของบริษัทในเครือฯ ทั้ง ซีพีเอฟ  ซีพีออลล์  ทรู แม็คโคร โลตัส สถานีข่าว TNN และช่อง True4U การจัดกิจกรรมแฮกกาธอนในกลุ่มเยาวชน คิดค้นไอเดียรับมือกลโกง ในการร่วมประชาสัมพันธ์กลโกงของอาชญกรรมไซเบอร์ในทุกช่องทางการสื่อสารอย่างเต็มศักยภาพรวมระยะเวลา 2 ปี

ขณะนี้ได้เริ่มนำร่องโดยกลุ่มทรู ธุรกิจด้านโทรคมนาคม ส่ง SMS เตือนภัย 18 กลโกงจากมิจฉาชีพออนไลน์ผ่านคือทรูมูฟ เอช รวม 37 ล้านเลขหมาย และทำการสื่อสารกระจายวัคซีนไซเบอร์ผ่านกลุ่มธุรกิจของเครือซีพีทั้งค้าปลีกและค้าส่ง ด้วยการเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อภายในลักษณะต่างๆ ในร้านเซเว่น – อีเลฟเว่นกว่า 13,000 สาขาประเทศ แม็คโคร 152 สาขา และโลตัสมากกว่า 2,000 สาขา เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศรู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพได้อย่างรวดเร็วและไม่ตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น

การผนึกกำลังของทางภาครัฐและเอกชน จึงเป็นการคิกออฟครั้งสำคัญที่จะเร่งกระจาย ‘ไซเบอร์วัคซีน’ สื่อสารให้คนในสังคมมีภูมิคุ้มกันไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์

หากพบเหตุการณ์น่าสงสัยที่อาจเกิดจากกลลวงของมิจฉาชีพ อย่ารีบหลงเชื่อ และโทรปรึกษาได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ โทร 08-1866-3000 ขณะที่ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ http://www.thaipoliceonline.com

รู้ทันกลโกง รู้ทันมิจฉาชีพ เพื่อหยุดอาชญากรรมออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น