วันนี้ (21 ก.พ.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วาระเรื่องด่วนการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอให้สภาฯ มีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบกับญัตติเสนอให้ทำประชามติความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2 ฉบับ ที่ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาเรื่องนี้แล้ว เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้ว
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาญัตติ เสนอการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ โดยระบุว่า ญัตติเสนอให้ ครม. ทำประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมคำถามแนบท้ายว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน”
กรรมาธิการฯ เห็นว่าการตั้งคำถามในญัตติดังกล่าว เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงอาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ อีกทั้งญัตติดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะมีลักษณะมุ่งเพียงตั้งคำถามเท่านั้น ไม่ระบุเหตุจำเป็นที่ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนการแก้ไขเนื้อหาฉบับเดิม และไม่มีแนวทางจัดทำประชามติที่ชัดเจนเพียงพอจะให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาได้โดยสะดวก และหลังจากผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ เห็นว่า การออกเสียงประชามติพร้อมการเลือกตั้งทั่วไปนั้น มีกรอบเวลาและข้อกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกัน อีกทั้งข้อจำกัดเรื่องการแบ่งเขต จะทำให้มีปัญหาเรื่องบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการทำประชามติแต่ละครั้ง ต้องใช้งบประมาณถึง 3,500 ล้านบาท เมื่อพิจารณาแล้ว และต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง การออกเสียงประชามติและเลือกตั้งทั่วไปในวันเดียวกัน เป็นไปได้น้อยมาก