สืบเนื่องจากกรณีเมื่อช่วงบ่าย วันนี้ (21 ก.พ.66 ) ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานกพ. ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ตั้งโต๊ะเปิดฉากอภิปรายข้างทำเนียบรัฐบาลนำข้อมูลการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายกระทรวง เข้าร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
โดยนายชูวิทย์ ได้มีการกล่าวถึงเรื่อง การทุจริต การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เริ่มจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ TOR ทั้งที่ปิดการซื้อขายไปแล้ว ทำให้จากเดิมที่รัฐต้องจ่ายเงิน 7,000 ล้านบาท รัฐกลับต้องจ่ายเป็น 70,000 ล้านบาท ถัดมาเป็นการทุจริตที่มีการฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยศาลชั้นต้นไม่ให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์ แต่กลับมีการวิ่งเต้นทำให้ที่ประชุมมติเปลี่ยนหลักเกณฑ์ นำมาสู่การฮั้วให้บริษัทเพียงแห่งเดียวที่เข้าหลักเกณฑ์ ต่อมาเป็นการทอนเงิน มีการโอนเงินนับหมื่นล้านบาทที่ประเทศสิงคโปร์ ท้ายสุดเป็นการเปิดประมูลรอบ 2 และกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ ลดสเปคต่างๆ จนเหลือบริษัทแห่งเดียวที่สามารถประมูลได้ ซึ่งขบวนการทั้งหมดล้วนเป็นการระดมหาทุนสู้ศึกเลือกตั้ง ที่นายกได้เตรียมประกาศยุบสภาช่วงเดือนมีนาคมนี้
ล่าสุดเมื่อเวลา 17.30 น. ที่ผ่านมา นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งเทศไทย(รฟม.) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ผ่านทางระบบ Zoom Meeting ชี้แจงกรณี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ตั้งข้อสังเกตต่อการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระบุว่า ตามที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้แถลงข่าวที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. ประเด็นการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1
– รฟม. ได้ปรับปรุงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการเสนอผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐตามที่นายชูวิทย์ฯ กล่าวอ้างแต่อย่างใด และได้ขยายระยะเวลาการยื่นซองข้อเสนอออกไปอีก 45 วัน
– ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยมีความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) และ รฟม. ดำเนินการแก้ไขเอกสาร RFP เพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้รับความเสียหาย และไม่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใด ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา
– สำหรับประเด็นที่นายชูวิทย์ฯ ได้พูดพาดพิงถึงมติที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดนั้น ถือเป็นกระบวนการภายในของศาลปกครองที่ไม่เปิดเผยแก่บุคคลภายนอก ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรต้องรอให้ปรากฏในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดต่อไป