"โรค ไวรัส มา ร์ บ ว ร์ ก" ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เรื่องราวความรู้เกี่ยวกับไวรัสมาร์บวร์ก 22 ประเด็น รู้ก่อนปลอดภัยก่อน
ข่าวที่น่าสนใจ
“โรค ไวรัส มา ร์ บ ว ร์ ก” โดยทางด้าน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ระบุเรื่องราวผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ว่า 22 คำถามที่ประชาชนสอบถามศูนย์จีโนมฯ เกี่ยวกับไวรัสมาร์บวร์ก
- 1. ไวรัสมาร์บวร์กเป็นไวรัสประเภทใด อันตรายแต่ไหน ควรกังวลหรือไม่
ไวรัสมาร์บวร์กเป็นอาร์เอ็นเอไวรัสรูปร่างเป็นแท่งสายยาวคล้ายถั่วงอก มีจีโนมขนาด 19,000 bp ประกอบด้วย 7 ยีนสำคัญ 3′-UTR-NP-VP35-VP40-GP1-GP2-VP30-VP24-L-5′-UTR มีขนาดเล็กกว่าไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นทรงกลมคล้ายผลทุเรียน มีจีโนมขนาด 30,000 bp ประกอบด้วย 13-15 ยีน
มีการติดเชื้อได้ง่ายจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ แต่โคโรนา 2019 แพร่เชื้อได้ดีกว่าเพราะสามารถแพร่ติดต่อทางอากาศได้ ไวรัสมาร์บวร์กมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 88% อยู่ในตระกูล ‘ฟิโลวิริแด (Filoviridae)’ เช่นเดียวกับไวรัสอีโบลาที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ไวรัสมาร์บวร์กทำให้เกิดไข้เลือดออกรุนแรงในมนุษย์และลิงหลายประเภท เป็นโรคที่เป็นภัยคุกคามถึงชีวิต
– ไวรัสมาร์บวร์กมีระยะฟักตัว 2-12 วัน หากติดเชื้อในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดอุปกรณ์ในการรักษา อัตราการเสียชีวิตอาจสูงถึง 90% หากมีการติดเชื้อรุนแรงมักเสียชีวิตวันที่ 8 หรือวันที่ 9 หลังจากมีอาการ เนื่องจากการเสียเลือดและตกเลือดภายในอย่างรุนแรง อวัยวะหลายส่วนเกิดการทำงานล้มเหลว
– สามารถแสดงอาการอย่างฉับพลัน ืเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ไม่สบายตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและเป็นตะคริว โดยอาจรวมถึงดีซ่าน คลื่นไส้ ปวดท้อง และท้องเสีย
– จากนั้นอาจพบผื่นที่ไม่มีอาการปรากฏบริเวณหน้าอก หลัง หรือท้องในวันที่ 5
– การวินิจฉัยโรคมาร์บวร์กในระยะแรกจากอาการเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีอาการหลายอย่างคล้ายกับโรคติดเชื้อประเภทอื่น เช่น มาลาเรีย ไข้ไทฟอยด์ และอีโบลา ปัจจุบันสามารถตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติยืนยันการติดเชื้อได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วด้วยเทคนิค RT-PCR
– ยังไม่มีวัคซีนหรือยาต้านไวรัสที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กเป็นการเฉพาะ ดังนั้นเมื่อพบผู้ติดเชื้อจึงต้องรีบแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน เช่น แยกไปรักษาที่เต้นสนามเพื่อมิให้แพร่เชื้อต่อผู้อื่น การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการอันสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ เช่น การให้น้ำกลับคืนด้วยสารน้ำทางปากหรือทางหลอดเลือดดำ การรักษาระดับออกซิเจน การใช้ยาบำบัดตามอาการที่เกิดขึ้น
– องค์การอนามัยโลกบรรยายลักษณะการติดเชื้อที่รุนแรงหลังวันที่ 5 ของผู้ป่วยติดเชื้อมีลักษณะคล้ายผี (Ghost-like) ด้วยลักษณะดวงตากลวงลึก(เนื่องจากเสียน้ำ) ใบหน้าซีด (เนื่องจากเสียเลือด) ไร้ความรู้สึก มีอาการหมดเรี่ยวแรงและง่วงนอนตลอดเวลา
- 2. ไวรัสมาร์บวร์กพบครั้งแรกเมื่อไร
ไวรัสถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2510 หรือเมื่อ 56 ปีมาแล้ว โดยเกิดการระบาดในหมู่พนักงานห้องแล็บชีวภาพในเมืองมาร์บวร์ก ประเทศเยอรมัน โดยมีการติดเชื้อไวรัสจากลิงเขียวแอฟริกัน (African green monkey) ซึ่งนำเข้ามาจากยูกันดา ซึ่งเชื่อว่าไวรัสมาร์บวร์กอุบัติขึ้นและแพร่ระบาดในลิงมานานแล้วตามธรรมชาติ
- 3.ไวรัสมาร์บวร์กเป็นดีเอ็นเอหรืออาร์เอ็นเอไวรัส
ไวรัสมาร์บวร์กเป็นไวรัสอาร์เอ็นเอสายเนกาทีฟ มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการกลายพันธุ์ที่สูงกว่าดีเอ็นเอไวรัสเนื่องจากเอนไซม์ของไวรัสมาร์บวร์กควบคุมการสร้างสายจีโนมของไวรัสรุ่นลูกและรุ่นหลานหละหลวม การมีอัตราการกลายพันธุ์สูงส่งผลให้เกิดไวรัสกลายพันธุ์เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่เมื่อเวลาผ่านไป
- 4. ไวรัสมาร์บวร์กแพร่ติดต่ออย่างไร
ไวรัสติดต่อสู่มนุษย์ผ่านการสัมผัสกับของเหลวในร่างกายของสัตว์เลือดอุ่นที่ติดเชื้อ เช่น ค้างคาว ลิง หมู ฯลฯ หรือระหว่างคนสู่คนจากการสัมผัสกับเลือด น้ำอสุจิ หรือของเหลวในร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อ ไวรัสยังสามารถติดต่อมาสู่คนผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ถุงมือ หรือเครื่องนอน
- 5. การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กดำเนินการอย่างไร
ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาเป็นการเฉพาะ มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อสูงถึง 88% การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคอง เช่น การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและการเปลี่ยนอิเล็กโทรไลต์ ตลอดจนการจัดการกับภาวะแทรกซ้อนใดๆที่เกิดขึ้น
- 6. ป้องกันการติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กอย่างไร
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสผู้ติดเชื้อต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลอย่างครบถ้วน เช่น ถุงมือ หน้ากาก แว่นตา และชุดคลุม อย่างรัดกุม
- 7. อาวุธชีวภาพ
เนื่องจากไวรัสมาร์บวร์กก่อให้เกิดการเสียชีวิตสูงในอัตราสูง และแพร่เชื้อจากคนสู่คนง่ายดายทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) จึงจัดให้ไวรัสมาร์บวร์กอยู่ในการควบคุมเพราะสามารถถูกใช้เป็นอาวุธชีวภาพได้ (bioterrorism agent) ถือเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่สำคัญ
- 8. มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กหรือไม่
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในมนุษย์เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก อย่างไรก็ตามมีวัคซีนหลายประเภทที่อยู่ในช่วงการพัฒนาและทดสอบกับเซลล์ในห้องทดลองหรือในสัตว์ เช่นวัคซีนเชื้อตาย วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ และวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) แม้ว่าวัคซีนเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่ก็ยังจำเป็นต้องผ่านการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้ในมนุษย์
- 9. มียาต้านไวรัสมาร์บวร์กหรือไม่
ปัจจุบันไม่มียาต้านไวรัสซึ่งได้รับการอนุมัติโดยเฉพาะสำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก อย่างไรก็ตามมียาต้านไวรัสหลายตัวที่ออกฤทธิ์ต้านไวรัสมาร์บวร์กในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลอง
- 10. เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสมาร์บวร์กในงานศพเกิดได้อย่างไร
ในอดีตมีการระบาดหลายครั้งของไวรัสมาร์บวร์กซึ่งเชื่อมโยงกับพิธีกรรมงานศพในแอฟริกา คาดว่าไวรัสนี้ติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับของเหลวในร่างกายของผู้เสียชีวิต อาทิ เลือด น้ำลาย อาเจียน ปัสสาวะ และอุจจาระ ในระหว่างพิธีกรรมงานศพตามประเพณี ผู้ร่วมไว้อาลัยอาจสัมผัสใกล้ชิดกับร่างของผู้เสียชีวิต ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัส
- 11. การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสมาร์บวร์กทั้งจีโนมจะมีประโยชน์หรือไม่
การถอดรหัสจีโนมทั้งหมดของไวรัสมาร์บวร์ก สามารถให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ ได้แก่ :
– ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการระบาดได้ทันต่อเหตุการณ์
– บ่งชี้ยีนและโปรตีนเป้าหมายที่เราควรพัฒนายาเข้ามายับยั้งเพื่อยุติการแพร่กระจายของไวรัสมาร์บวร์ก
– ให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับชีววิทยาของไวรัสและการมีปฏิสัมพันธ์กับโฮสต์ (มนุษย์) ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาวิธีการรักษาและการป้องกันแบบใหม่
- 12. การตรวจไวรัสมาร์บวร์กในแหล่งน้ำเสียมีประโยชน์อย่างไร
การตรวจหาไวรัสมาร์บวร์ก จากน้ำเสียใกล้ชุมชนสามารถใช้เตือนล่วงหน้าถึงการระบาดหรือการปรากฏตัวของผู้ติดเชื้อภายในชุมชน แม้กระทั่งก่อนที่พวกเขาจะแสดงอาการหรือเจ็บป่วยต้องพบแพทย์และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
ในกรณีของไวรัสมาร์บวร์กมีการพิสูจน์แล้วว่าไวรัสสามารถปะปนออกมาในอุจจาระและปัสสาวะของผู้ติดเชื้อ โดยตรวจพบอนุภาคของไวรัสเหล่านี้ในตัวอย่างน้ำเสีย ตัวอย่างเหล่านี้จะถูกตรวจกรองด้วยวิธีการทางชีวโมเลกุล เช่น RT-PCR หรือ LAMP เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส รวมทั้งการถอดรหัสพันธุกรรมบางส่วนของจีโนมเพื่อบ่งชี้สายพันธุ์
- 13. ไวรัสมาร์บวร์กสามารถแพร่ติดต่อทางอากาศ (airborne) ได้หรือไม่
ไม่มีหลักฐานว่าไวรัสมาร์บวร์กสามารถแพร่ผ่านทางอากาศได้ ไวรัสมาร์บวร์กส่วนใหญ่ติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับของเหลวในร่างกายของผู้ติดเชื้อ เช่น เลือด น้ำลาย อาเจียน ปัสสาวะ และอุจจาระ ไวรัสสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวหรือวัตถุที่ปนเปื้อน เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์หรือเครื่องนอน
- 14. ไวรัสมาร์บวร์กมีค่า R-naught เท่าไร
R₀ (อ่านว่า ‘R-naught’) เป็นคำศัพท์ทางคณิตศาสตร์ที่ใช้อธิบายจำนวนเฉลี่ยของคนที่จะติดโรคจากผู้ติดเชื้อ 1 คนในกลุ่มประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค ค่าที่แน่นอนของ R₀ สำหรับไวรัสมาร์บวร์ก ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามคาดว่าค่า R₀ ของไวรัสมาร์บวร์ก น่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 1.5 – 3.5 ซึ่งหมายความว่าผู้ติดเชื้อแต่ละคนมีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่นระหว่าง 1.5 ถึง 3.5 คนในกลุ่มประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน
- 15. ใช้ข้อมูลจากโซเชียลมีเดียช่วยตรวจสอบการแพร่ระบาดของไวรัสได้หรือไม่
โซเชียลมีเดียอาจเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการติดตามและตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อ รวมถึงไวรัสมาร์บวร์ก บุคคลมักจะใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสถานะสุขภาพและอาการใด ๆ ที่พวกเขากำลังประสบอยู่ หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อตรวจหาการระบาดที่อาจเกิดขึ้นและเพื่อเป็นแนวทางในการตอบสนอง
- 16. ทำไมไวรัสนี้จึงตั้งชื่อตามเมืองในเยอรมนี
ไวรัสมาร์บวร์ก ได้รับการตั้งชื่อตามเมืองมาร์บวร์ก ในเยอรมนี เนื่องจากพบการระบาดครั้งแรกในเมืองนี้เมื่อปี 2510 จากบรรดาเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ดูแลลิงเขียวจากแอฟริกันจำนวน 31 ราย และ 7 รายในจำนวนนี้เสียชีวิต โดยมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 23% เช่นเดียวกับไวรัสอีโบลาได้รับการตั้งชื่อตามแม่น้ำอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งเป็นที่ที่พบไวรัสเป็นครั้งแรก ในทำนองเดียวกันไวรัสซิกาได้รับการตั้งชื่อตามป่าซิกาในยูกันดา ซึ่งเป็นที่ที่แยกไวรัสได้เป็นครั้งแรก
- 17. ทำไมการระบาดของไวรัสจากสัตว์มาสู่คน ส่วนใหญ่เกิดมาจากประเทศในแอฟริกา
การระบาดของไวรัสสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของโลกและไม่เฉพาะเจาะจงในแอฟริกา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบางอย่างในแอฟริกาสามารถนำไปสู่การเกิดและการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อได้
– ปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนคือการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างมนุษย์และสัตว์ในหลายพื้นที่ของแอฟริกา ซึ่งสามารถเปิดโอกาสให้ไวรัสกระโดดจากสัตว์ที่เป็นโฮสต์หรือรังโรคมาสู่มนุษย์ เนื่องจากมนุษย์ในพื้นที่เหล่านี้อาจนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ป่าหรือสัมผัสกับเลือดหรือของเหลวจากสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น คนงานในเหมืองหรือถ้ำที่มีค้างคาว สัมผัสกับปัสสาวะ และอุจาระของค้างคาว
– หลายพื้นที่ของแอฟริกายังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาลที่จำกัด ซึ่งทำให้ยากต่อการตรวจสอบ ป้องกันการระบาด อันส่งผลต่อการรักษาพยาบาลแก่ผู้ติดเชื้อ
– ความยากจน ภาวะทุพโภชนาการ และการปฏิบัติด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยที่ไม่เพียงพอ ซึ่งสามารถเพิ่มความสุ่มเสี่ยงอ่อนแอของประชากรต่อโรคติดเชื้อ
– แต่เป็นที่น่าสังเกตด้วยพลังของโซเชี่ยลมีเดียในปัจจุบันทำให้ทั่วโลกตระหนักว่าขณะนี้มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสจำนวนมากในแอฟริกา ทำให้หลายประเทศร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนแอฟริกาในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพและการใช้มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
- 18. มีไวรัสกี่ประเภทที่แพร่ระบาดในสัตว์เลือดอุ่น (นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)
เป็นการยากที่จะประเมินจำนวนไวรัสที่สามารถแพร่เชื้อในสัตว์เลือดอุ่นได้ เนื่องจากไวรัสชนิดใหม่ถูกค้นพบและจัดประเภทอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร ‘Nature’ ในปี 2018 ประมาณว่ามีไวรัสอย่างน้อย 214 ตระกูลที่ติดเชื้อในสัตว์มีกระดูกสันหลัง โดยในแต่ละตระกูลของไวรัส อาจมีไวรัสหลายสายพันธุ์ที่สามารถแพร่เชื้อไปยังโฮสต์ที่แตกต่างกันได้
ตัวอย่างเช่น ไวรัสตระกูลโคโรนาสามารถแพร่เชื้อไปยังมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ ไวรัสบางชนิดสามารถกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วเกิดวิวัฒนาการเป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งทำให้ยากต่อการประมาณจำนวนชนิดของไวรัสที่แน่นอน
- 19. ไวรัสในสัตว์อะไรบ้างที่แพร่มาระบาดจากสัตว์มาสู่คน?
– ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (สัตว์ปีก สุกร และอื่นๆ)
– ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ SARS-CoV-2 (ค้างคาว)
– ไวรัสอีโบลา (ค้างคาวผลไม้และลิง)
– เอชไอวี (ลิงโดยเฉพาะลิงชิมแปนซี)
– ไวรัสพิษสุนัขบ้า (สุนัข ค้างคาว และสัตว์อื่นๆ)
– ไวรัสเวสต์ไนล์ (ยุงและนก)
– ฮันตาไวรัส (สัตว์ฟันแทะ โดยเฉพาะหนู และ กวาง)
– ไวรัสไข้ลาสซา (หนูโดยเฉพาะหนู Mastomys)
– ไวรัสมาร์เบิร์ก (ค้างคาวผลไม้แอฟริกา)
• ไวรัสนิปาห์ (ค้างคาวและสุกร)
- 20. รายชื่อวัคซีนได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องกันมนุษย์จากการติดเชื้อไวรัส
รายชื่อวัคซีนที่ใช้บ่อยและเป็นที่รู้จักสำหรับป้องกันมนุษย์จากการติดเชื้อไวรัส
– วัคซีนป้องกันโควิด-19: Pfizer-BioNTech, Moderna, Johnson & Johnson, AstraZeneca, Sinovac, Sinopharm ฯลฯ
– วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่: มีหลายประเภทให้เลือก รวมทั้งวัคซีนไตรวาเลนต์และควอดริวาเลนต์ ซึ่งป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ
– วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี: วัคซีนนี้ป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคตับได้
– วัคซีนหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR): วัคซีนนี้ป้องกันโรคไวรัสสามชนิด ได้แก่ หัด คางทูม และหัดเยอรมัน
– วัคซีนฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส (เอชพีวี): วัคซีนนี้ป้องกันไวรัสเอชพีวีบางสายพันธุ์ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดมะเร็งหลายชนิด รวมถึงมะเร็งปากมดลูด
– วัคซีน Varicella (โรคอีสุกอีใส): วัคซีนนี้ป้องกันไวรัส varicella-zoster ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด
– วัคซีนโรตาไวรัส: วัคซีนนี้ป้องกันโรตาไวรัสซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรงในเด็กเล็ก
– วัคซีนโปลิโอ: วัคซีนนี้ป้องกันไวรัสโปลิโอซึ่งอาจทำให้เกิดอัมพาตได้
– วัคซีนไข้เหลือง: วัคซีนนี้ป้องกันไวรัสไข้เหลืองซึ่งติดต่อโดยยุงและอาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้
– วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า: วัคซีนนี้ป้องกันไวรัสพิษสุนัขบ้าซึ่งติดต่อจากสัตว์ที่ติดเชื้อและอาจถึงแก่ชีวิตได้หากไม่รักษาอย่างทันท่วงที
- 21. รายชื่อยาต้านไวรัสที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องกันและรักษามนุษย์จากการติดเชื้อไวรัส
– เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)
– ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)
– โมลนูพิราเวียร์(Molnupiravir)
– แพกซ์โลวิด (Paxlovid)
– โอเซลทามิเวียร์ (ทามิฟลู)/Oseltamivir (Tamiflu)
– อะไซโคลเวียร์ โซวิแร็กซ์/Acyclovir (Zovirax)
– วาลาไซโคลเวียร์ (วาลเทร็กซ์)/Valacyclovir (Valtrex)
– แกนซิโคลเวียร์ (ไซโตวีน)/Ganciclovir (Cytovene)
– ไรบาวิริน/Ribavirin
– ซิโดวูดีน/Zidovudine (AZT)
– โซฟอสบูเวียร์/Sofosbuvir
– อินเตอร์เฟอรอน/Interferons
- 22. จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กและเสียชีวิตระหว่าง พ.ศ. 2510-2566
– พ.ศ. 2510 : เยอรมนีและยูโกสลาเวีย ติดเชื้อ 31 ราย เสียชีวิต 7 ราย (23%) ในกลุ่มคนงานในห้องปฏิบัติการที่จัดการกับลิงเขียวแอฟริกันที่นำเข้ามาจากยูกันดา
– พ.ศ. 2518 : โจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ ซิมบับเว ติดเชื้อ 3 เสียชีวิต 1 (33%)
– พ.ศ. 2523 : เคนยา ติดเชื้อ 2 รายเสียชีวิต 1 ราย(50%) เข้าชมถ้ำ Kitum ในอุทยานแห่งชาติ Mount Elgon ของเคนยา
– พ.ศ. 2530 : เคนยา ติดเชื้อ 1 รายเสียชีวิต 1 ราย(100%) เข้าชมถ้ำ Kitum ในอุทยานแห่งชาติ Mount Elgon ของเคนยา
– พ.ศ. 2533 : รัสเซีย ติดเชื้อ 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย(100%) การปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการ
– พ.ศ. 2541-2543 : สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ติดเชื้อ 154 ราย เสียชีวิต 128 ราย (83%) คนงานในเหมืองทองใน Durba
– พ.ศ. 2547-2548 : แองโกลา ติดเชื้อ 252 ราย เสียชีวิต 227 ราย (90%)
– พ.ศ. 2550 : ยูกันดา ติดเชื้อ 4 ราย ตาย 1 ราย (25%) ทำงานในเหมืองตะกั่วและทองคำ
– พ.ศ. 2551 : ติดเชื้อจากถ้ำ Maramagambo ในยูกันดา ติดเชื้อ 1 รายแต่ไม่เสียชีวิต และ ติดเชื้อจากถ้ำ Maramagambo ในยูกันดา ติดเชื้อ1 ราย เสียชีวิต 1 ราย (100%)
– พ.ศ. 2555 : ยูกันดา ติดเชื้อ 15 ราย เสียชีวิต 4 ราย (27%) ในเขต Kabale, Ibanda, Mbarara และ Kampala
– พ.ศ. 2557 : ยูกันดา มีผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย (เสียชีวิต)
– พ.ศ. 2017 : ยูกันดา ติดเชื้อ 4 ราย เสียชีวิต 3 ราย (75%)
– พ.ศ. 2564 : Guinea Guéckédou ติดเชื้อ 1 ราย ตาย 1 ราย (100%)
– พ.ศ. 2565 : กานา ติดเชื้อ 3 รายเสียชีวิต 2 ราย
พ.ศ. 2566 อิเควทอเรียลกินี ติดเชื้อ 16 รายเสียชีวิต 9 ราย
อ่านรายละเอียดทั้งหมดที่นี่ : คลิก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Center for Medical Genomics
ข่าวที่เกี่ยวข้อง