นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. สมาคมจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เพื่อสอบถามว่าการชุมนุมสาธารณะเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมาเป็นไปโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ประชาชนไปด้วยสองมือเปล่า มีเพียงความคิดสร้างสรรค์ จริงหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงที่โซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนรายงานนั้น ปรากฏการปะทะกันขึ้นโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง รถฉีดน้ำสกัดการเคลื่อนตัวชุมนุมของม็อบ ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมก็ปรากฏมีการใช้หนังสติ๊ก ลูกแก้ว ลูกหิน ยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการใช้พุ ตะไล ขวดน้ำมันเพื่อใช้เป็นระเบิดเพลิงในการตอบโต้เจ้าหน้าที่ด้วย จนกระทั่งมีรถคุมขังนักโทษของตำรวจถูกเผาเสียหายไป 1 คัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เข้าร่วมชุมนุมต่างบาดเจ็บจากการปะทะกันไปหลายคน
ประกอบกับก่อนหน้านี้กลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้ยื่นหนังสือต่อ กสม. เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขอให้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุม เนื่องจากผู้ร้องอ้างว่าใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับใช้วิธีการคุกคามเสรีภาพผู้ร้องและผู้ชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง กสม.จึงมีมติมอบหมาย นางปรีดา คงแป้น ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี นางศยามล ไกยูรวงศ์ และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในวันดังกล่าวด้วย
ดังนั้นเมื่อความปรากฏว่ามีการปะทะกันขึ้น มีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย มีทรัพย์สินของทางราชการเสียหายโดย และมีผู้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าใช้ความรุนแรง ยั่วยุ ทั้งๆที่ประชาชนไปด้วยสองมือเปล่า มีเพียงความคิดสร้างสรรค์นั้น และเมื่อ กสม.ลงพื้นที่เพื่อติดตามเฝ้าระวังแล้ว จะมีข้อสรุปว่าผู้ชุมนุมได้ดำเนินการชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ประชาชนไปด้วยสองมือเปล่า จริงหรือไม่ และปฏิบัติการของรัฐในการควบคุมฝูงชนเป็นไปตามหลักสากล หลักความจำเป็นและได้สัดส่วนกับสถานการณ์หรือไม่ อย่างไร เพราะคำตอบของ กสม.สามารถนำไปใช้ประกอบในการแจ้งความหรือดำเนินคดีกับผู้ที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จต่อไปได้ สมาคมฯจึงต้องเดินทางไปยื่นคำร้องสอบถาม กสม.เพื่อขอคำตอบในกรณีดังกล่าวต่อไป