ภายหลังจากเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ซึ่งรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัท ระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และยื่นคำร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว โดยขอให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับตามมติรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัทดังกล่าว กับขอให้ศาลสั่งห้ามหรือระงับการกระทำและนิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับมติรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัท
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวทั้งฉบับ เนื่องจากไม่มีเหตุรับฟังได้ว่ามติรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัทของ กสทช. ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวเป็นที่สุด และผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้
ล่าสุด วันนี้(1 มี.ค.66) มีรายงานข่าวว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคําพิพากษา ชั้นตรวจฟ้อง กรณีกสทช.มีมติรับทราบการรวมธุรกิจของ ทรู และ ดีแทค
ตามคดีหมายเลขดําที่ อท 199/2565 ระหว่าง นางสาวธนิกานต์ บํารุงศรี โจทก์ กับ ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ จำเลย ที่ 1 นายต่อพงศ์ เสลานนท์ จำเลย ที่ 2 , พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ จำเลย ที่ 3 , ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต จำเลย ที่ 4 และ รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย จำเลย ที่ 5 เรื่อง ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ (ชั้นตรวจฟ้อง)
โดยคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องสรุปว่า โจทก์เป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) AIS หมายเลข … จึงเป็นผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิจากการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช.
และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 จําเลยทั้งห้าร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในคราวประชุมนัดพิเศษ ครั้งท่ี 5/2565 วาระ การพิจารณารายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทค ผลการประชุมปรากฏว่า จําเลยทั้งห้า มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง ลงมติรับทราบการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค โดยจําเลยทั้งห้าจัดให้มีการประชุมและลงมติ โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและ ประชาชนทั่วไป โดยไม่นํารายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และรับฟัง ความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จํากัด) เป็นการกระทําที่ฝ่าฝืน ต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงจําเลยที่ 2 ไม่มีความเป็นกลางและมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัททรู จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ลงมติรับทราบเรื่องการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทคเป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นการมิชอบ
การที่จําเลยที่ 1 ในฐานะประธาน กสทช. เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการกสทช.ใช้สิทธิลงมติ 2 คร้ังในการประชุมวาระการพิจารณาเรื่องการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัทรูกับบริษัทดีแทค เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้อง
การที่จําเลยที่ 3 ใช้สิทธิลงมติ งดออกเสียงในการประชุมในวาระดังกล่าวเป็นการกระทํา ที่ฝ่าฝืนตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ
การออกมาตรการเฉพาะของจําเลยทั้งห้าที่กําหนดเกี่ยวกับเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูกับบริษัทดีแทค ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขอให้ลงโทษจําเลยทั้งห้าตามประมวลอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83
ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง พิจารณาแล้วมีคําวินิจฉัยดังนี้
1.) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 28 บัญญัติให้ กสทช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปก่อนออกระเบียบ ประกาศ หรือ คําสั่งเกี่ยวกับการกํากับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่มีผลเป็นการใช้บังคับทั่วไป แต่สําหรับกรณีการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของบริษัททรูและ บริษัทดีแทคเป็นการพิจารณาเพื่อมีมติหรือมีคําสั่งเกี่ยวข้องหรือผูกพันเกี่ยวกับผู้รับใบอนุญาตเฉพาะราย คือ บริษัททรูและบริษัทดีแทคเท่านั้น ไม่ได้มีผลบังคับเป็นการทั่วไป จําเลยทั้งห้าจึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้เสียหลักก่อน