1 มีนาคม 2566 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวถึงกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลอกลวงประชาชน ว่า ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวน บช.สอท.ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายหลายรายว่าถูกมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัดสถานีตำรวจภูธรแห่งหนึ่ง สร้างความน่าเชื่อถือโดยการแจ้งข้อมูลผู้เสียหาย ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ ได้อย่างถูกต้อง
จากนั้นจะให้ผู้เสียหายทำการแอดไลน์เพิ่มเพื่อนกับสถานีตำรวจปลอมดังกล่าว แล้วทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว โดยแจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินในคดีต่างๆ พร้อมส่งภาพการจับกุมผู้ต้องหา ภาพบัญชีธนาคารของกลาง และเอกสารคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมของสำนักงาน ปปง. เรื่องการส่งทรัพย์สินเข้าตรวจสอบ หรือเอกสารราชการอื่นๆ เช่น หมายเรียก หมายจับ ที่มีชื่อของผู้เสียหาย เป็นต้น
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า แก๊งดังกล่าวยังเพิ่มความน่าเชื่อถือโดยการใช้ไลน์วิดีโอคอลมายังผู้เสียหาย สวมเครื่องแบบเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แสดงบัตรประจำตัวข้าราชการ และสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมือนอยู่ที่สถานีตำรวจจริง ต่อมามิจฉาชีพจะให้ผู้เสียหายโอนเงินที่มีอยู่ในบัญชีมาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เพื่อตรวจสอบว่ามีความเกี่ยวข้องหรือไม่ กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปยังบัญชีที่มิจฉาชีพเตรียมไว้ ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ
“การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในท้องที่ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงเตรียมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานการโอนเงิน บันทึกการสนทนา รายการเดินบัญชีธนาคาร เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดี” พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า สิ่งแรกที่มิจฉาชีพมักใช้คือการสร้างความน่าเชื่อถือ ใช้จิตวิทยา เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของคน มีการเขียนบทสนทนาเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ เพื่อทำให้เหยื่อคล้อยตามหลงเชื่อ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ IVR (Interactive Voice Response) หรือเทคโนโลยี Deepfake เป็นต้น เพราะฉะนั้นประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ให้พึงระมัดระวังการรับสายโทรศัพท์หมายเลขที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายเลขที่โทรมาจากต่างประเทศ ปัจจุบันจะมีเครื่องหมาย+697 ให้ท่านตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก หลงเชื่อง่ายๆ และอย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลเลขบัตรต่างๆ รหัสใช้ครั้งเดียว หรือ One Time Password (OTP) กับผู้ใด