ครอบครัว “รัตนพันธ์” ร้องสื่อตรวจสอบ ผู้บริหาร SC ASSET

ครอบครัว "รัตนพันธ์" ร้องสื่อตรวจสอบ ผู้บริหาร SC ASSET

วันนี้ ( 2 มี.ค. 66) ครอบครัว “รัตนพันธ์” นำโดย ดร.ศรายุทธ รัตนพันธ์ พร้อม นางสาว ฐานิดา รัตนพันธ์ และ นางสาว ลัดฟ้า รัตนพันธ์ ในฐานะบุตร ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง ขอให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบความสุจริต และโปร่งใสในพฤติการณ์การดำเนินธุรกิจของ บริษัท เอสชี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จนเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ทำให้ครอบครัวต้องได้รับผลกระทบจากมูลหนี้จากการธุรกรรมร่วมกันจำนวนมหาศาล พร้อมแสดงหลักฐาน กรณี นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ASSET มีพฤติกรรมที่สื่อไปในการเป็นความผิดต่อการบริหารบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ณ ห้องกมลพร โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ

 

 

ทั้งนี้ นางสาว ฐานิดา รัตนพันธ์ กล่าวว่า บิดาของตนเองประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2532 โดยเป็นกรรมการผู้จัดการและเจ้าของบริษัทพัฒนาที่ดินสร้างหมู่บ้านจัดสรรเพื่อการอยู่อาศัยและขาย อาทิ โครงการบ้านเดี่ยวพร้อมสระว่ายน้ำ ติดถนนใหญ่เลียบวงแหวนเสรีไทย-รามอินทรา ฯลฯ รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ มูลนิธิรักษ์แผ่นดินไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ตั้่งแต่เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548 มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเป็นประธานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อนำประดิษฐาน 101 วัด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตามโครงการรวมพลังศรัทธาไทย…ใต้ร่มเย็น

ก่อนที่จะมาเดือดร้อนต้องสูญเสียบ้านและที่ดิน เนื่องจาก บริษัท เอสชี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ASSET ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงการรวบรวมที่ดินเพื่อเสนอขาย ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 และเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนไทย หมู่เลขที่ 222, 666 และ 888 ติดถนนใหญ่ มีเนื้อที่เกือบ 5 ไร่ โดยครอบครัวได้พักอาศัยอยู่กันมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี และถ้ารวมกับที่ดินของเจ้าของอื่นบริเวณที่ติดกันแล้วจะมีเนื้อที่กว่า 34 ไร่ โดยมีท้ายที่ดินติดกับบ้านคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์

 

ดร.ศรายุทธ เล่าเพิ่มเติมว่า ตนเองเสนอขายที่ดินจำนวนกว่า 34 ไร่ ที่สามารถรวบรวมได้ให้กับคุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ หรือ ชินวัตร ผ่านทางนายพิชิต ชื่นบาน ทนายความครอบครัวชินวัตร แต่จากนั้นไม่นานคุณหญิงพจมาน มอบหมายให้เลขาฯโทรมาแจ้งว่าที่ดินบริเวณบ้านมีเพียงพอแล้ว แต่จะส่งข้อเสนอดังกล่าวให้ SC ASSET เข้ามาประสานติดต่อซื้อขายเพื่อทำโครงจัดสรร แทน

หลังจากนั้นคณะเจ้าหน้าที่ของ SC ASSET ได้เข้ามาติดต่อขอซื้อที่ดินตามที่คุณหญิงพจมานแจ้งไว้ และมีการลงนามบันทึกข้อตกลงการรวบรวมที่ดิน บริเวณโครงการถนนเลียบวงแหวนรัชดา-รามอินทรา ฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 เป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งในวันพูดคุยทำบันทึกข้อตกลง ตนเองยังได้มอบสิ่งสักการะที่ระลึก เนื่องในวันเกิดและอวยพรวันขึ้นปีใหม่ 2560 ให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะอดีตซีอีโอ SC ASSET อีกด้วย เนื่องจากในช่วงการลงนามที่เป็นลายลักษณ์อักษรกับคณะเจ้าหน้าที่ SC ASSET ได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมบริหารและนางสาวยิ่งลักษณ์ ทำให้ยิ่งเป็นการเพิ่มความมั่นใจและความเชื่อใจต่อกัน

อย่างไรก็ตามขณะนั้น เนื่องจากที่ดินแปลงที่ตนเองถือครองอยู่ มีคดีอยู่ในศาลกับนายทุนเงินกู้ ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา เลยตัดสินใจไปถอนฟ้องคดีอาญาและเร่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลกับกลุ่มนายทุน เพื่อนำที่ดินมาโอนให้ SC ASSET ตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขบันทึกข้อตกลง แต่เมื่อใกล้ครบกำหนดเวลาตามบันทึกข้อตกลง ปรากฎว่า SC ASSET กลับเปลี่ยนแปลงข้อตกลง โดยการแจ้งยกเลิกซื้อที่ดินแปลงบ่อกว่า 20 ไร่ และเริ่มแสดงความไม่แน่นอนในการซื้อที่ดินตามบันทึกทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่เป็นสาระสำคัญหลัก ในการทำบันทึกข้อตกลง

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นางสาว ฐานิดา รัตนพันธ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้บริหาร SC ASSET แสดงพฤติการณ์ให้เชื่อว่ามีการวางแผนโยกโย้ ให้หมดระยะเวลาตามบันทึกข้อตกลง ส่วนเหตุและแรงจูงใจที่ SC ASSET เลือกไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง เป็นเพราะ SC ASSET ได้โยกย้ายนำเงินทุนสำหรับการซื้อที่ดินตนเอง ไปซื้อที่ดินแปลงอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าและราคาถูกกว่าในบริเวณใกล้เคียงกัน จนเป็นเหตุให้ครอบครัวรัตนพันธ์ ต้องสูญเสียบ้านและที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เนื่องจากทรัพย์สินทั้งหมดตกไปเป็นของนายทุนเงินกู้ ทั้ง ๆ ที่มีข้อเท็จจริงว่าถ้า คุณหญิงพจมานไม่ให้ SC ASSET เข้ามาขอซื้อที่ดิน และ SC ASSET ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและโปร่งใส ครอบครัวรัตนพันธ์ก็คงไม่ต้องเสียบ้าน ที่ดินและต้องบ้านแตกสาแหรกขาดมาจนถึงทุกวันนี้

“ด้วยความที่คุณพ่อมั่นใจมากๆ โดยทั้งก่อนและหลังการลงนามตามบันทึกข้อตกลง คนที่ให้เข้ามาซื้อคือคุณหญิงพจมาน คนที่คุณพ่อไปพบที่บริษัท ก็คืออดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งไม่ได้เป็นการพบกันแค่ครั้งเดียว โดยมีการพบกันหลายครั้ง เพื่อคุยรายละเอียด ในวันเกิด วันปีใหม่ และหลังจากนั้นการที่ SC เข้ามายืนยันที่จะซื้อ ทำให้คุณพ่อต้องไปจัดการในเรื่องราวหลายๆอย่างเพื่อนำที่ดินมาให้บริษัท แต่กลับกลายเป็นบริษัทไม่ยอมซื้อที่ดินตามบันทึกข้อตกลง เพราะหันไปเอาที่ดินที่ได้กำไรมากกว่าในแปลงบริเวณใกล้เคียง ทำให้บ้านเราเกิดความเสียหาย เราต้องสูญเสียบ้านและที่ดิน มูลค่า 200 กว่าล้านไป ซึ่งคุณพ่อทำหนังสือถึงผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ติดตามมาโดยตลอดให้รับผิดชอบ ซึ่งบริษัทได้ส่งหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย เลขาบริษัทมา แต่เราไม่เคยได้รับการรับผิดชอบอย่างจริงใจเลย โดยเรื่องราวเกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2559 – 2560 คุณพ่อทำหนังสือเป็น 100 ฉบับ ส่งให้ผู้บริหาร SC ทั้ง CEO ลูกเขยทักษิณ , คุณอุ๊งอิ๊ง , คุณเอม ,คุณหญิงพจมาน แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง”

 

 

ส่วนรายละเอียดความเสียหายที่เกิดขึ้น ทางสมาชิกครอบครัวรัตนพันธ์ กล่าวว่า “มีทั้งการสูญเสียบ้านและที่ดินมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ตามบันทึกข้อตกลงที่ SC ASSET ทำร่วมกับ ดร.ศรายุทธ ฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 โดยหลังจากเสียบ้านและที่ดินไป ครอบครัวรัตนพันธ์ก็บ้านแตกสาแหรกขาด ต่างคนต่างต้องแยกย้ายกันหาที่เช่าอยู่ ขาดรายได้ และไม่มีแม้กระทั่งเงินจะส่งลูกชายเรียนต่อระดับชั้นมหาวิทยาลัย ครอบครัวได้ติดตามให้ SC ASSET รับผิดชอบโดยการชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด จากการทำหนังสือลงทะเบียนตอบรับเป็นทางการ ถึงผู้บริหารและผู้ถือหุ้นกว่า 100 ฉบับ แต่ SC ASSET เลือกให้ผู้บริหารฝ่ายกฎหมายมาเจรจา โดยไม่แสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจังต่อครอบครัว”

นางสาว ฐานิดา ระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตามครอบครัวได้ติดตามจนเจอตัว นายณัฐพงศ์ ซีอีโอของ SC ASSET ในงานแถลงข่าว SC Reinvention 2020 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 และได้มีการพูดคุยเบื้องต้น โดย ดร.ศรายุทธ กล่าวกับนายณัฐพงศ์ว่า “ถ้าผมไม่ถูกต้อง แม้แต่บาทเดียวผมก็ไม่เอา”

 

 

ขณะที่อีกฝ่ายกล่าวตอบ “มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว มันเป็นเรื่องของบริษัท ผมไม่ได้เอาเงินส่วนตัวมาซื้อที่ดินคุณนะ” จึงได้มีการนัดวันเพื่อเจรจาร่วมกันอย่างเป็นทางการ พร้อมมีการแสดงเอกสารหลักฐานจำนวนมาก ทั้งบอร์ด ชาร์ต Timeline และคลิปหลักฐานต่างๆ เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงที่มาที่ไปของปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยมีการประชุมร่วมกันทั้งหมด 3 ครั้ง ณ ตึกชินวัตร ทาวเวอร์ 3 อาคารเลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เริ่มจากครั้งที่ 1 ตรงกับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 , ครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 มีนาคม 2561 และครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561

นางสาวลัดฟ้า รัตนพันธ์ ระบุ “ข้อสรุปจากการประชุมทั้ง 3 ครั้ง นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ CEO และนายอรรถพล สฤษฎิพันธาวาทย์ CCO ให้คำมั่นเรื่องการจ่ายเงินชดเชยค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น โดย CEO ขอให้คุณพ่อและลัดฟ้ารวบรวมที่ดินให้อีกครั้ง คุณพ่อบอกว่าถ้าจะให้ไปทำงานใหม่จะรับปากไม่ได้ เพราะที่ดินตกเป็นของผู้อื่นไปแล้ว ดังนั้นต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกมาก่อน 100 ล้านบาท จนมีการต่อรองกันสรุปเบื้องต้นที่ 20 ล้านบาท เพื่อเร่งเยียวยาครอบครัว หลังจากทุกคนต้องกระจัดกระจายแยกย้ายกันอยู่ ไม่มีเงินเรียนต่อ ถือเป็นทุกข์ยากลำบากที่สุดในช่วงหนึ่งของการดำเนินชีวิต”

 

 

ทางด้าน นางสาว ฐานิดา กล่าวเสริมว่า รายละเอียดทั้งหมดมีหลักฐานปรากฎอยู่แล้ว สรุปในวันนั้น นายณัฐพงศ์ ไม่รู้เลยหรือว่าเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ หรือบริษัททำอะไรเอาไว้ จนนัดให้เราเข้าไปประชุมเพื่อแสดงหลักฐาน และอยากรับรู้ที่มาถึงความเสียหายที่เกิดจากบริษัทเขาเป็นคนทำจริงๆใช่ไหม หรืออย่างไร”

สำหรับขั้นตอนการเจรจาระหว่าง ครอบครัว “รัตนพันธ์” กับ ซีอีโอ SC ASSET นางสาวลัดฟ้า รัตนพันธ์ ระบุด้วยว่า ข้อสรุปการเจราจาครั้งนั้น ผู้บริหาร SC ASSET ระบุเองว่าจะรับซื้อที่ดินทั้งหมด 14 ไร่ แต่ปรับราคาเพิ่มขึ้น จากราคาตารางวาละ 50,000 บาท เพิ่มเป็น 86,000 บาท ซึ่งทำให้มีส่วนต่างต่อตารางวาสูงถึง 36,000 บาท รวมถึงเมื่อคูณด้วยจำนวนเนื้อที่ดินทั้งหมด 5,752.4 ตารางวา เท่ากับจะมีวงเงินส่วนต่าง 207,086,400 บาท เพื่อให้ตรงกับค่าความเสียหายมากที่สุด ส่วนการจ่ายเงินเพื่อเยียวยาก่อน 20 ล้านนั้น ผู้บริหาร SC ASSET อ้างว่าเนื่องจากตนเป็นบริษัทฯมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และอยู่ท่ามกลางสปอตไลท์ ไม่สามารถจ่ายเงินออกมาโดยตรงได้ ต้องอำพรางเป็นสัญญากู้เอาไว้ เพื่อจะไม่ได้เป็นภาระทางกฎหมาย แต่เมื่อรวบรวมที่ดินเสร็จจะจ่ายค่าเสียหายส่วนต่างที่เหลือให้จนเสร็จสิ้น

 

 

” ประเด็นสำคัญ คือ ซีอีโอ SC ASSET หรือ นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ เป็นผู้รับปากในที่ประชุม เองว่าไม่ต้องเป็นห่วง จะดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเองจนจบ ครอบครัวก็โล่งใจเพราะปัญหาได้คลี่คลาย แต่ปรากฏว่าภายหลังออกจากห้องประชุม เนื้อความในสัญญาที่ SC ASSET ทำขึ้นกลับไม่ตรงกับสิ่งที่ตกลงร่วมกันในที่ประชุมหลายข้อ และเมื่อติดต่อให้แก้ไข ทางนายอรรถพล ยืนยันว่าแก้ไขไม่ได้ แต่อ้างกับเราว่านี่คือวิธีการที่ดีที่สุดในแก้ปัญหา เพราะต้องทำตามแบบบริษัทมหาชน แต่จะยึดตามเจตนารมณ์ที่คุยร่วมกันในที่ประชุม และต้องเซ็นในบันทึกที่ SC ASSET ทำขึ้นเท่านั้น และด้วยความรู้ไม่เท่าทัน รวมถึงครอบครัวรัตนพันธ์ ก็ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการเซ็นเพื่อให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดตามตกลง เราเลยลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไป”

“ระยะเวลาทั้งหมดที่พูดถึงในการประชุมในตอนนั้น ปี 61 หลังจากที่พี่พงศ์ เขามาคุยกับเรา เข้ามาบอกพี่จะดูแลทั้งหมด ในภาพเป็นคนดีมากๆ เป็นสุภาพบุรุษ เป็นตามภาพที่เขาก็ยังทำอยู่ทุกวันนี้ให้ทุกคนเห็น แต่เราแค่อยากจะบอกว่า ณ วันนั้นเราก็เชื่อทุกอย่าง ในวันประชุมเขายื่นทิชชู่มาให้ซับน้ำตา เพราะบ้านเราต้องสูญเสียไปเพราะการกระทำของบริษัท เอสซี ถึงวันที่ CEO เข้ามาบอกจะรับผิดชอบ จะทำทุกอย่างให้เรื่องมันยุติ จะชดใช้ค่าเสียหายให้ ณ วันนั้นเราไม่รู้เลยว่าวิธีการที่เขาบอกว่ามันคือ ให้เอาเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไป 20 ล้านก่อนนะ แต่พี่อยู่ในสปอตไลท์ต้องให้น้องมาเซ็น น้องที่อายุแค่ 23 ปี ณ ตอนนั้น มาเซ็นกู้ยืมเงินไว้ เพราะมันต้องทำ เพราะบริษัทจ่ายเงินออกมาเลยไม่ได้ ส่วน 200 ล้าน ก็ไปเป็นประโยชน์จากส่วนต่าง สุดท้ายที่เขาบอกว่าแก้ไขได้ หรืออะไรก็ตาม บริษัทก็บอกว่าจะต้องเซ็นแบบนี้เท่านั้น บริษัททำได้แค่อย่างนี้”

 

 

แต่หลังจากเซ็นบันทึกข้อตกลง มีประเด็นเพิ่มเติมว่า เมื่อทราบรายละเอียด ดร.ศรายุทธ พยายามติดต่อกับ ซีอีโอ SC ASSET แต่ติดต่อไม่ได้ จึงเกิดความเครียดมาก ป่วย หน้าเบี้ยว มือสั่น เส้นเลือดในสมองตีบ ในขณะที่ครอบครัว “รัตนพันธ์” เรียกร้องบริษัท SC ASSET ปรับแก้บันทึกให้เป็นไปตามที่ตกลงในที่ประชุม โดยมีการแก้อีกหลายครั้งแต่ก็ยังไม่เป็นไปตามในที่ประชุม จน ดร.ศรายุทธ เครียดอาการทรุดหนัก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หลับไม่ได้ สะดุ้งตื่นทั้งคืน จนคุณหมอต้องให้แอดมิด ไปนอนพักรักษาตัวอยู่ในแผนกจิตเวชผู้ใหญ่ โรงพยาบาลรามาธิบดีอยู่ 12 คืน ส่วนลูกสาวต้องดรอปเรียนมาดูแลคุณพ่อป่วยหนัก ที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายในตอนนั้น เพราะเครียดหนักจากสิ่้งที่ต้องเผชิญ เนื่องจากผู้กระทำผิดไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ แต่เป็น CEO ที่เป็นสามีของผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 และเป็นพี่เขยของผู้ถือหุ้นอันดับ 1 มูลค่ารวมกันกว่า 10,000 ล้านบาท เปรียบดังเจ้าของบริษัท ซึ่งมาลวงไม่ใช่แค่ตนเองแต่ลวงเด็กๆลูกตนเองด้วย

กระบวนการต่อจากนั้น เมื่อครอบครัวรัตนพันธ์เดือดร้อนถึงที่สุด ทาง ดร.ศรายุทธ จึงพยายามหาทางประสานไปที่ต้นเรื่อง คือคุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ โดยได้รับการช่วยเหลือติดต่อจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ได้โทรไปขอความเป็นธรรมจากคุณหญิง กระทั่งมีโอกาสเข้าไปนั่งคุยกับคุณหญิงพจมาน ที่ห้องทำงาน ณ ตึกชินวัตร ทาวเวอร์ 3 โดยคุณหญิงพจมาน บอกว่าให้นำเอกสารมาจะดูแลให้การช่วยเหลือให้ความเป็นธรรม เพราะถือเป็นคนไทยด้วยกัน แต่สุดท้ายเมื่อได้รับเอกสารทั้งหมดไปพิจารณา คุณหญิงพจมานกลับส่งเรื่องให้เลขาฯมาบอกกับผู้ใหญ่ท่านนั้นว่ารอหมดเวลาตามบันทึกข้อตกกลง แล้วจะเดินหน้าฟ้องครอบครัว “รัตนพันธ์” ฐานทำให้เกิดความเสียหาย

 

 

ทั้งนี้ นางสาวลัดฟ้า ย้ำด้วยว่า ที่ผ่านมาครอบครัวไว้ใจและเชื่อใจในสิ่งที่ นายณัฐพงศ์ ซีอีโอ SC ASSEET รับปากกับตนในที่ประชุม จึงได้ดำเนินเรื่องต่อโดยการนำที่ดินไปให้บริษัทรับโอนเพื่อรับเงินค่าเสียหาย แต่สุดท้ายบริษัท SC ASSET กลับให้นักกฎหมายปฏิเสธ โดยอ้างเหตุผลต่างๆนาๆ พร้อมนำสัญญาเงินกู้ที่ใช้อำพรางการจ่ายเงินเยียาวยา มาฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อครอบครัว “รัตนพันธ์” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 จนกลายเป็นการตอกย้ำให้เห็นพฤติการณ์ของบุคคลในครอบครัวชินวัตร และ ผู้บริหาร SC ASSET ตลอดระยะเวลาทีผ่านมาหลายปี

“ครอบครัวรัตนพันธ์ต่อสู้คดีกันด้วยตนเอง มายาวนานกว่า 3 ปี เพราะกลัวการโดนแทรกแซง โดยมีการยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง เรียกค่าเสียหายทั้งหมด 1.5 พันล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งศาลได้ไต่สวนพร้อมหลักฐานแล้ว เห็นว่ามีมูล โดยงดเว้นค่าธรรมเนียมให้ในส่วนแรก และค่าธรรมเนียมศาลอีกส่วน ที่ครอบครัวรัตนพันธ์ต้องหาเพื่อนำมาวางศาลจำนวน 1.4 ล้านบาท ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมในการนำเงินไปวางศาล จนทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยศาลมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของครอบครัวรัตนพันธ์จำนวน 1,503 ล้านบาทแล้วเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา”

ซึ่ง ดร.ศรายุทธ กล่าวด้วยน้ำเสียงดุดัน ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนสภาพครอบครัวตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ว่า “คุณณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ซึ่งเป็นลูกเขยทักษิณ หรือ คุณอรรถพล สฤษฎิพันธาวาทย์ CCO และอีกท่าน CEO ของโรงพยาบาลพระราม 9 ซึ่งคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นใหญ่อยู่ ซึ่ง 2 ท่านนี้เป็นสุภาพบุรุษ แต่ผมไม่เชื่อว่า 2 คนนี้คือสุภาพบุรุษตัวจริง ผมเลยไม่คิดที่จะทำงาน ผมเอาแต่ร่ำร้องเรียกค่าเสียหาย 205 ล้านบาทเศษ มาตลอด หลักฐานปรากฏอยู่เยอะ ทั้งวัตถุพยาน ทั้งลายลักษณ์อักษร ข้อเท็จจริงไม่สามารถไปล้มล้างในอดีตได้ 2 ท่านนี้หลอกลวงลูกผม ให้คำมั่น บอกว่าจะชดใช้ให้ หลอกลวงคนที่รออยู่ด้านหลัง ด้านนอกก็คือแม่เฒ่าเรา หรือคุณย่า จนถึงวันนี้ผมอยากให้ 2 คนนี้ หรือชินวัตร ออกมาคุยกับเรา เราท้าดีเบตทุกที่ ทุกแห่งในแผ่นดินนี้ เอาความจริงกล้าเปิดกับเราไหม สาบานต่อวัดพระแก้ว สาบานต่อพระสยามเทวาธิราช ใครคนไหนมันโป้ปดมดเท็จ ให้มันมีอันเป็นไปทั้งตระกูล คุณกล้าออกมาสาบานอย่างสุภาพบุรุษกับพวกเราไหม ผมรออยู่นะ รออยู่ทุกวัน”

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

นายกฯ เปิดงาน Thailand Reception เชิญชวนสัมผัสเสน่ห์อาหารไทย ชูศักยภาพเศรษฐกิจ
จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย
ทบ.ขานรับนโยบายปราบยาเสพติด เพิ่มทหาร 6 กองกำลัง วัดเคพีไอ 10 กพ.-10 มิ.ย.

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น