ด่วน ศาลรธน.สั่ง “ศักดิ์สยาม” หยุดปฏิบัติหน้าที่รมว.คมนาคม ตั้งแต่ 3 มี.ค.

ด่วน ศาลรธน.สั่ง "ศักดิ์สยาม" หยุดปฏิบัติหน้าที่รมว.คมนาคม ตั้งแต่ 3 มี.ค.

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายพรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติและพรรคเพื่อชาติ เข้ายื่นคำร้องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่

หลังจากก่อนหน้านี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องถึงประธานสภาฯ เรื่อง ขอให้เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ของนายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา แต่ประธานสภาฯไม่ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเหตุแห่งการใช้สิทธิร่วมกันเข้าชื่อเสนอคำร้องดังกล่าว ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะส่งเรื่องให้ศาลฯได้ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ที่ห้ามรัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามจำนวนที่กำหนดไว้นั้น

ก็เพื่อป้องกันมิให้รัฐมนตรีใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทอันจะเป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตน ซึ่งข้อห้ามดังกล่าวให้ใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของรัฐมนตรี และการถือหุ้นของรัฐมนตรีที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าในทางใดๆ ด้วย

ซึ่งในกรณีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม นั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ อันจะทำให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 แต่เมื่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นตลอดมา โดยให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นผู้ถือหุ้นแทน

การกระทำของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จึงเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 187 ประกอบมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ดังนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นอย่างแท้จริงดังกล่าว

ถือเป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 187 ประกอบมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว”

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุว่า ที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้วินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี และ ส.ส. ของนายศักดิ์สยาม มาแล้ว 3 คำร้อง โดยได้ยื่นคำร้องไปที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แก่ คำร้องที่ 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรม กรณีที่นายศักดิ์สยามยังพักอาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐ คือ ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

ส่วน คำร้องที่ 2 เมื่อปี 2554 ได้มีหนังสือของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า โฉนดที่ดิน 3466 ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของนายศักดิ์สยามนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งให้ดำเนินคดีกับผู้ที่อยู่ในโฉนดดังกล่าว พรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงได้มีการยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีกับนายศักดิ์สยาม ในความผิดตามมาตรา 157 และข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ และคำร้องที่ 3 มีการพบว่าการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายศักดิ์สยาม น่าจะไม่ถูกต้อง จึงยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม การเข้ายื่นคำร้องให้ประธานสภาฯ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรี และสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลงหรือไม่ในครั้งนี้ นั้น เป็นการดำเนินการตามช่องทาง เพราะนายศักดิ์สยาม มีการกระทำความผิดที่รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ คือ เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์

“เราไม่ได้มีความขัดแย้งหรือมีอคติใดๆทั้งสิ้น แต่เมื่อการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย เป็นเรื่องของหลักนิติธรรม ถ้ามีการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เราจะปล่อยละเลยไม่ได้ เพราะถือว่าจะทำให้หลักนิติธรรมล่มสลาย เราจึงจำเป็นต้องทำหน้าที่นี้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 187 บัญญัติว่า “รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด

ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีตามวรรคหนึ่งต่อไป ให้แจ้งประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้โอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

รัฐมนตรีจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตามวรรคสองไม่ว่าในทางใดๆ มิได้

มาตรานี้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ให้ใช้บังคับแก่คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของรัฐมนตรี และการถือหุ้นของรัฐมนตรีที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางใดๆ ด้วย”

 

ล่าสุดวันนี้ ( 3 มี.ค.) ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งผลคำวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบ มาตรา 187 หรือไม่

จากกรณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 ( 1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบค าร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9)

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แจ้งให้คู่กรณีและนายกรัฐมนตรีทราบ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"กรมโยธาฯ" จับมือ "คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล" ลงนาม MOU ช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการบริจาคโลหิต
“ไทด์” แฉลึก! ยศใหญ่โทรปิดเกม สั่งย้าย “แตงโม” เข้านิติเวช รพ.ตำรวจ
เมียไรเดอร์ เปิดใจเสียงสั่น กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังรู้ข่าว หนุ่มอินเดียซิ่งเก๋งได้ประกันตัว ลั่น ‘คนมีเงินมันยิ่งใหญ่’
นายกฯ เปิดงาน Thailand Reception เชิญชวนสัมผัสเสน่ห์อาหารไทย ชูศักยภาพเศรษฐกิจ
จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น