UN บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการปกป้องทะเลหลวง หลังตกลงเจรจากันมากว่า 10 ปี ตั้งเป้าให้พื้นที่ทะเล 30 % เป็นพื้นที่คุ้มครองภายในปี 2030
ชาติสมาชิกได้บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ในการปกป้องมหาสมุทรของโลกหลังจากการเจรจาเป็นเวลา 10 ปี ด้วยสนธิสัญญาทะเลหลวง ซึ่งตั้งเป้าให้พื้นที่ 30 เปอร์เซ็นต์ของทะเลสากล เป็นพื้นที่คุ้มครองภายในปี 2030 เพื่อปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติทางทะเล
ข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผลในเย็นวันเสาร์ หลังจากการพูดคุยนาน 38 ชั่วโมง ที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนิวยอร์ก หลังการประชุมเจรจาถูกจัดขึ้นหลายครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากความไม่ลงรอยกันในเรื่องเงินทุนและสิทธิในการจับปลา
ข้อตกลงพิทักษ์ทะเลหลวงใหม่ จะจำกัดกิจกรรมในน่านน้ำสากล โดยจำกัดปริมาณการจับปลา เส้นทางเดินเรือ และกิจกรรมการสำรวจต่างๆ เช่น การทำเหมืองในทะเลลึก เมื่อแร่ธาตุถูกดึงมาจากก้นทะเลลึกลงไปใต้ผิวน้ำ 200 เมตรหรือมากกว่านั้น เนื่องจากกระบวนการทำเหมืองอาจรบกวนแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ สร้างมลภาวะทางเสียง และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล
ลอรา เมลเลอร์ นักรณรงค์ด้านมหาสมุทรของกรีนพีซ นอร์ดิค กล่าวยกย่องประเทศต่างๆ ที่ยอมละทิ้งความแตกต่างและทำให้สนธิสัญญาที่ปกป้องมหาสมุทรลุล่วง ซึ่งจะช่วยปกป้องชีวิตและการดำรงชีวิตของผู้คนหลายพันล้านคน โดยหลังจากนี้ ประเทศสมาชิกจะต้องประชุมกันอีกครั้ง เพื่อรับรองข้อตกลงอย่างเป็นทางการ จากนั้นต้องให้สัตยาบันรับรองตามกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปกป้องมหาสมุทรฉบับก่อนหน้าได้ลงนามเมื่อ 40 ปีที่แล้วในปี 1982 ซึ่งมีชื่อว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งข้อตกลงนี้ กำหนดพื้นที่น่านน้ำสากล ที่ทุกประเทศมีสิทธิ์ในการตกปลา ออกเรือ และทำการวิจัย แต่มีเพียง 1.2 เปอร์เซ็นต์ของน่านน้ำเหล่านี้เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่คุ้มครองเหล่านี้ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์