"มาตรการลดหย่อนภาษี" ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีจูงใจผู้บริจาคเพื่อสนับสนุนกีฬา ลดหย่อนได้ 2 เท่า ปีภาษี 66-67 เช็คเงื่อนไขเพิ่มเติมที่นี่
ข่าวที่น่าสนใจ
“มาตรการลดหย่อนภาษี” โดยล่าสุด นางสาว ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มีนาคม 2566 ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ…. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา) โดยมีสาระสำคัญ
เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ แก่ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือ บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการกีฬา ให้แก่
- การกีฬาแห่งประเทศไทย
- คณะกรรมการกีฬาจังหวัด
- สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด
- สมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า ‘แห่งประเทศไทย’ (เช่น สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬามวลสากลแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เป็นต้น) หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
- กรมพลศึกษา
โดยให้หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ของจำนวนเงินบริจาค ในกรณีบุคคลธรรมดาเมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นจำนวน 2 เท่าแล้ว จะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อน
ส่วนกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายบริจาคอื่นแล้วจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสิทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์และเพื่อการศึกษา พร้อมกับให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า หรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่หน่วยรับบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬาด้วย
นางสาว ไตรศุลี กล่าวว่า การบริจาคจะต้องดำเนินการผ่านระบบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพกร ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 – 31 ธันวาคม 2567 รวม 2 ปีภาษี โดย กระทรวงการคลัง ได้ประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับแล้วคาดว่ามาตรการภาษีนี้จะมีผลให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีลดลงปีละ 1 ล้านบาท 2 ปี ภาษีรวม 2 ล้านบาท แต่คาดว่าหน่วยรับบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬาจะได้รับบริจาคปีละประมาณ 8 ล้านบาทเศษ และเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการกีฬาของประเทศอย่างต่อเนื่อง และเป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐในด้านการกีฬาได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ครม. ยังได้มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขับเคลื่อนสร้างการรับรู้และความเข้าใจมาตรการภาษีแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงสนับสนุนหน่วยรับบริจาคให้ใช้ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพกรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริจาคต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง