รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ประเทศแห่งสิทธิและเสรีภาพ กำหนดให้รัฐบาลต้องเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัว ความเป็นส่วนตัวดังกล่าวรวมถึงสิทธิอันมีต่อทรัพย์สินและต่อเสรีภาพในทางความคิดการแสดงความรู้สึก การนับถือศาสนา การรู้สึกผิดชอบชั่วดี
นอกจากนี้ สิทธิความเป็นส่วนตัวนั้นมิได้เป็นสิทธิเบ็ดเสร็จ บางครั้งที่สิทธิส่วนบุคคลพึงมีต่อความเป็นส่วนตัวจะต้องถูกจำกัดเพื่อคุ้มครองความจำเป็นของสังคมที่จะต้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
เช่นเดียวกับเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือส่วนบุคคล ความเป็นสถาบันต่างๆ ก็เก็บรักษาบางอย่างไว้เป็นเรื่องส่วนตัวเช่นกัน ความเป็นส่วนตัวนี้หรือเรียกอีกอย่างว่าความลับ
ไม่เว้นแม้แต่องค์กรธุรกิจต่างๆ ก็ต้องเก็บแผนงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่หรือแผนการในการดำเนินธุรกิจ การโฆษณา การกระจายสินค้า ไว้เป็นความลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทางการทหารยิ่งต้องมีความลับสูงสุด
ดังนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันสูงสุดของรัฐย่อมต้องมีความเป็นส่วนตัวหรือความลับสูงสุด
ด้วยเช่นกัน บุคคลในตำแหน่งต่าง ๆ ย่อมมีน้ำหนักต่อผลประโยชน์และต้นทุนของความเป็นส่วนตัวที่แตกต่างกัน
กฎหมายระหว่างประเทศถือว่าประมุขของรัฐเป็นองค์กรสูงสุดในความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายต่างประเทศถือว่าประมุขของรัฐเป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง โดยไม่อยู่ใต้บงการของบุคคลใด
ดังนั้น ในฐานะที่ประมุขของรัฐเป็นบุคคลสำคัญสูงสุดในการติดต่อกับต่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ จึงกำหนดให้ประมุขของรัฐได้รับสิทธิพิเศษ ได้รับการให้เกียรติ และต้อนรับในกรณีเดินทางไปรัฐอื่น สิทธิพิเศษที่ประมุขของรัฐได้รับโดยถือเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศได้แก่
1. สิทธิละเมิดมิได้
2. สิทธิได้รับการยกเว้นในทางศาล
3. สิทธิได้รับยกเว้นภาษี
1. สิทธิละเมิดมิได้
เมื่อประมุขของรัฐเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติและต้องได้รับการอารักขาความปลอดภัยเป็นกรณีพิเศษจากรัฐที่เดินทางไป
กฎหมายอาญาของประเทศส่วนใหญ่มักจากกำหนดโทษหนักเป็นพิเศษกรณีที่มีการกระทำผิดทางอาญาหรือดูหมิ่นประมุขของรัฐ
ไม่เว้นกรณีที่ประมุขของรัฐเดินทางเป็นการส่วนตัวอย่างลับ ๆ ถ้ารัฐที่เดินทางทราบก็มีหน้าที่ต้องให้ความอารักขาอยากเข้มแข็งเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องจัดการต้อนรับอย่างเป็นทางการ
2. สิทธิได้รับการยกเว้นในทางศาล กฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐให้พ้นความรับผิดชอบทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา ไม่ว่าจะกระทำตามหน้าที่หรือในฐานะส่วนบุคคลก็ตาม
3. สิทธิได้รับยกเว้นภาษี ไม่ต้องเสียภาษีทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าของรัฐ ของท้องถิ่นหรือเทศบาลเช่นภาษีเงินได้หรือภาษีทางอ้อมอื่น ๆ
ตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศนั้นประมุขของรัฐขณะอยู่ต่างประเทศสามารถทำกิจการตามหน้าที่ได้ เช่น การแต่งตั้งหรือออกกฏข้อบังคับ
ซึ่งก็คือ การใช้อำนาจนอกอาณาเขตและลงพระนามกฎหมายของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐ
แต่สิ่งที่ประมุขของรัฐไม่สามารถกระทำได้ คือการกระทำที่ขัดต่อหลักการหรือจารีตประเพณีของประเทศที่ตนเดินทางไปได้
สิทธิพิเศษดังกล่าวเหล่านั้นยังตกทอดไปสู่คณะผู้แทนทางการทูต เนื่องจากเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับเกียรติและการเคารพจากรัฐต่างประเทศสิทธิ์ดังกล่าว จึงตกทอดไปยังคณะทูตซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการคุ้มครองทั้งในและนอกหน้าที่
ดร.นิว ศุภณัฐ อภิญญาณ ได้โพสต์ข้อความโดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
ทนายอานนท์ ขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารอันละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ข้อมูลเที่ยวบินการเดินทาง, ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณส่วนพระองค์ และข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
โดยข้อมูลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จัดได้ว่าเป็นข้อมูลส่วนพระองค์ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาษีของประชาชนแต่อย่างใด แตกต่างจากงบประมาณของหน่วยราชการในพระองค์ที่มาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เพราะการเบิกจ่ายเป็นไปตามขั้นตอนของกรมบัญชีกลางอยู่แล้ว
สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความกลวงของทนายอานนท์ ที่ไม่รู้เลยว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของไทยได้ให้ความคุ้มครองและยกเว้นการเผยแพร่ข้อมูลส่วนพระองค์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เฉกเช่น กฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร หรือ Freedom of Information (FOI) Act ของสหราชอาณาจักร
………………………………………………………
พระมหากษัตริย์ เป็นตำแหน่งประมุขของรัฐ ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการ
ทรัพยสินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินทางราชการ
โดยนอกจากทรัพยสินส่วนพระมหากษัตริย์แล้ว พระองค์ก็ยังมี ทรัพย์สินส่วนพระองค์อีกต่างหากอีกด้วย
ซึ่งก็เหมือนกับประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่ข้าราชการและนักการเมือง ก็ล้วนมีเรื่องของทรัพย์สินส่วนตัว
ซึ่งเรื่องทรัพย์สินส่วนพระองค์ ถือเป็นเรื่องของสิทธิความเป็นส่วนตัว อันหมายรวมถึงสิทธิอันมีต่อทรัพย์สินและต่อเสรีภาพ รวมไปถึงข้อมูลส่วนพระองค์อื่นๆ อีกด้วย ซึ่งสิทธิความเป็นส่วนตัวเหล่านี้ ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา เหมือนกับสิทธิความเป็นส่วนตัวในเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวและเรื่องส่วนตัวของประชาชนอย่างอานนท์ นำภา ด้วยเช่นกัน
นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะรับราชการเป็นประมุขของรัฐแล้ว พระองค์ยังเป็นพระราชบิดาที่มีพระราชโอรสที่กำลังเจริญวัยและกำลังทรงศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมันนี ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ที่ถึงจะทรงมีตำแหน่งทางราชการเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขของรัฐ ในขณะเดียวกัน ก็ทรงเป็นพ่อของลูก ที่สามารถจะไปเยี่ยมเยือนหรือพักอาศัยอยู่ดูแลใกล้ชิดกับลูกได้นานหรือบ่อยครั้งได้เท่าที่ต้องการหรือจำเป็นอีกด้วย
คนทั้งประเทศหรือคนทั้งโลกเข้าใจบทบาทความเป็นพ่อได้อย่างดี
มีแต่คนที่คิดบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่หวังผลทางการเมืองเพื่อปฏิรูปหรือปฏิวัติเท่านั้น ที่สร้างเรื่องไม่เป็นเรื่องให้เป็นเรื่อง หรือสร้างเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ แล้วทำซ้ำ ๆ เพื่อทำให้เรื่องที่บิดเบือนกลายเป็นความเชื่อและกลายเป็นเรื่องจริงในที่สุด ตามทฤษฎี การเมืองคือความเชื่อ ของปิยะบุตร