นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ กล่าวถึงกรณี พระครูอมรธรรมทัต เจ้าอาวาสวัดพันอ้น จ.เชียงใหม่ แจ้งความที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ให้ดำเนินคดีกับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภารัฐสภา รวมถึงส.ส. และส.ว. ทุกคน ในความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากไม่มีการออกกฎหมายคุ้มครองพุทธศาสนาตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 ว่า ตนเข้าใจเจตนาของพระครูอมรธรรมทัต เป็นอย่างดีที่ต้องการคุ้มครองพระพุทธศาสนา แต่คงจะเข้าใจผิดในเรื่องอำนาจหน้าที่และการทำงานของประธานรัฐสภา ซึ่งเรื่องการแจ้งความดำเนินคดีถือว่าเป็นสิทธิ์ ทั้งนี้สืบเนื่องจาก พระครูอมรธรรมทัต มีหนังสือถึงนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯคนที่ 2 เร่งรัดให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ…. เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 63 พร้อมกับส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้ามาทางประธานรัฐสภาด้วย ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 วรรค 5 ประธานสภาฯและรองประธานสภาฯ ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลกิจการของสภาฯ ดังนั้นการเสนอหรือการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เป็นดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร หรือ ส.ส. หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ผ่านมาจึงไม่เคยมีกฎหมายที่ประธานสภาฯเสนอเอง เช่นเดียวกับ ส.ว. ไม่ได้มีหน้าที่เสนอกฎหมาย
นพ.สุกิจ กล่าวต่อว่า เมื่อนายศุภชัย ได้รับเรื่องดังกล่าว ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ดำเนินการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 63 และได้มีการติดตามเรื่องนี้เป็นระยะๆ จนเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 64 ประธาน กมธ.การศาสนาฯ ได้มีหนังสือแจ้งกลับมาที่นายศุภชัยว่าร่างพ.ร.บ.ที่ พระครูอมรธรรมทัต เสนอนั้น มีหลักการและเหตุผลสอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ส่งเสริมพุทธศาสนิกชน ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ กมธ.การศาสนาฯ ได้ดำเนินการยกร่างเสร็จแล้ว และเสนอสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป พร้อมทั้งทำหนังสือแจ้ง พระครูอมรธรรมทัต เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามสภาฯ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ไม่ได้ละเลยต่อร่างกฎหมายที่ได้มีการเสนอมา ส่วนการดำเนินงานนั้น ยืนยันว่าในส่วนของประธานสภาฯ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ก็ไม่เคยเสนอกฎหมายด้วยตัวเอง เพราะต้องวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่