วันที่9 ส.ค. 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ไวรัสโควิด19 หรือ ศบค. แถลงว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม ถึงวันที่ 7 สิงหาคม จำนวน 2,417 รายในจำนวนนี้มีผู้ไม่ได้รับวัคซีน 838 ราย ผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม และระยะติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนน้อยกว่า 2 สัปดาห์ เสียชีวิต 149 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ระยะติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนเกิน 2 สัปดาห์ เสียชีวิต 82 ราย และฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เสียชีวิต 13 ราย หรือคิดเป็นเพียง 0.5% จึงเป็นข้อสรุปที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำการเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังแถลงถึงสถานการณ์การบริหารจัดการเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลว่า ข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พบว่าผู้ป่วยรอเตียงสีเขียว สีเหลือง ลดลง หากเทียบกับตัวเลขเดือนกรฎาคม เนื่องจากมีการปรับระบบการดูแล โดยผู้ป่วยที่ได้รับการคัดแยกจากหน่วยปฐมภูมิจะได้รับการจัดสรรให้แยกกักที่บ้าน หรือโฮม ไอโซเลชั่น ซึ่งขณะนี้มีจำนวนเกือบ 1 แสนคน แต่หากที่บ้านมีสภาพไม่เหมาะสม ก็จะเข้าสู่การรักษาในศูนย์พักคอย หรือ คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ที่ตอนนี้มี 67 แห่ง มีเตียงทั้งหมดจำนวน 8,886 เตียง เปิดดำเนินการแล้ว 53 แห่ง จำนวน 6,359 เตียง ผู้ป่วย 3,206 ราย คงเหลือ 3,153 ราย รับผู้ป่วยใหม่ 379 ราย รักษาหายกลับบ้าน 206 ราย ส่งต่อ 45 ราย
สำหรับรายชื่อศูนย์พักคอย ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 14 แห่ง อาทิ โซนกรุงเทพเหนือ ศูนย์พักคอยโรงซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 400 เตียง กำหนดเปิดภายในวันที่ 13 สิงหาคม โซนกรุงเทพกลาง ศูนย์พักคอยประปาแม้นศรี จำนวน 100 เตียง กำหนดเปิด 11 สิงหาคม โซนกรุงเทพใต้ ศูนย์พักคอยโกดังสเตเดียม ท่าเรือ จำนวน 300 เตียง กำหนดเปิด 9 สิงหาคม โซนกรุงเทพตะวันออก ศูนย์พักคคอยกรุงเทพมหานคร เขตคันนายาว จำนวน 100 เตียง กำหนดเปิด 10 สิงหาคม และโซนกรุงธนใต้ ศูนย์พักคอยโรงเรียนคลองหนองใหญ่ จำนวน 250 เตียง อยู่ระหว่างดำเนินการ