วันนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีกลุ่มคนไทยหลายจังหวัดร่วม 20 คน เข้าแจ้งความกองปราบปรามฯ หลังถูกเอเจนซี่เบี้ยว ทำสัญญา จ่ายเงินค่าดำเนินการพาไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นและมัลดีฟส์ แล้วไม่ได้เดินทาง กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานจึงดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน บก.ปคม. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินคดีกับสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน จำนวน 3 คน ในฐานความผิดตาม พรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 66 ข้อหา “การโฆษณาการจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 91 ตรี ข้อหา “หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ล่าสุด บก.ปคม.ได้จับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 คน จากบ้านพักและนำตัวไปฝากขัง ณ ศาลอาญา รัชดาแล้ว ในข้อหากระทำความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกง และข้อหาโฆษณาการจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง
“ที่ผ่านมาการถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศมีทั้งกรณีที่หลอกลวงให้เสียค่าใช้จ่ายแต่ไม่ได้เดินทาง และกรณีที่ได้เดินทางไปต่างประเทศแล้วแต่การจ้างงานไม่เป็นไปตามข้อตกลง มีการบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย รายได้-สวัสดิการไม่เป็นธรรม ทำร้ายร่างกาย ถูกยึดหนังสือเดินทาง บางรายให้เซ็นสัญญารับสภาพหนี้ ซึ่งหากคนหางานเลือกไปทำงานอย่างถูกกฎหมายจะป้องกันเรื่องเหล่านี้ได้” รมว. แรงงานกล่าว