กกพ.รับฟังความเห็น 3 ทางเลือก “เอฟที” อัตราเดียว งวดพ.ค.-ส.ค. ปี 66

กกพ.เปิดรับฟังความเห็น 3 ทางเลือก ค่าเอฟที งวด พ.ค. – ส.ค.66 ในการจ่ายคืนภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง (คงค้าง) กฟผ. ชี้ทางเลือกที่ 2 ที่ 4.84 บาทต่อหน่วย และทางเลือกที่ 3 ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย เป็นไปได้สูง ส่วนที่กพช .เห็นว่าค่าเอฟทีควรไม่เกิน 4.72 บาทต่อหน่วย โฆษกกกพ.ชี้ต้องร่วมแสดงความเห็นเข้ามาเพื่อเสนอกกพ.และหารือกฟผ.ต่อไป

10 มี.ค.66 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แถลงข่าวชี้แจงถึงผลการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) และข้อเสนอทางเลือก เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นประกอบการพิจารณาเพื่อประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566” ว่า สำนักงาน กกพ.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ผู้ใช้ไฟฟ้า และประชาชนทั่วไป ตามมติที่ประชุม กพช. ที่ให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ทั้ง 3 กรณี รวมถึงกรณีอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนี้

 

 

 

โดยให้ระบุความคิดเห็นเข้ามา ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10 – 20 มีนาคม 2566 เพื่อรวบรวมมานำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กพพ. ในวันที่ 22 มี.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อกำหนดเป็นค่า เอฟทีในเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ต่อไป

 

โดยข้อเสนอและความคิดเห็นจากมติ กกพ มีด้วยกัน 3 กรณี ดังนี้

 

กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 จำนวน 293.60 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.- ส.ค. 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้งหมด หรือเงินภาระต้นทุนคงค้างสะสมเดือน ก.ย. 2564 – ธ.ค. 2565 จำนวน 150,268 ล้านบาท คิดเป็น 230.23 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.72 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที

 

กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 จำนวน 105.25 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.- ส.ค. 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงที่คาดว่าจะคงเหลือจากเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน (เงินภาระต้นทุนคงค้างสะสมเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 หักภาระต้นทุนคงค้างที่ กกพ. เห็นชอบให้ทยอยเรียกเก็บบางส่วนเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 22.22 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเงินประมาณ 13,584 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็น 5 งวดๆละ 27,337 ล้านบาทหรืองวดละ 41.88 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ธ.ค. 2567 โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 109,349 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.84 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอของ กฟผ.

 

 

และกรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 จำนวน 98.27 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.- ส.ค. 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงคาดว่าจะคงเหลือจากเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน โดยแบ่งเป็น 6 งวดๆ ละ 22,781 ล้านบาทหรืองวดละ 34.90 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี (เม.ย. 2568) โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 113,905 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย

ข่าวที่น่าสนใจ

 

นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับความคิดเห็นที่เกิดขึ้นจากที่ประชุมกกพ.นั้น มองว่า ในส่วนของกรณีที่ 2 และ 3 นั้น มีความความเป็นไปได้สูง ทั้งนี้ ทางกกพ. ก็ไม่ได้ปิดกั้นความคิดเห็นของประชาชนและผู้ใช้ไฟฟ้าในการเสนอทางเลือกอื่นๆ โดยได้พยายามชี้แจงถึงที่มาและที่ไปและเหตุผลต่างๆที่เกิดขึ้น หากผู้ใช้ไฟ หรือผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม พร้อมเหตุผล เพื่อทางกกพ.จะนำเสนอต่อที่ประชุมต่อไป

 

ส่วนกรณีที่ประชุมกพช .มีความคิดเห็นว่าค่าเอฟทีจะต้องไม่เกิน 4.72 บาท เนื่องจากสถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลง และไม่ได้เป็นหนึ่งในทางเลือกของ กกพ. จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ นายคมกฤช ระบุว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่ค่าเอฟทีจะอยู่ที่ 4.72 บาท แต่ทั้งนี้ ในส่วนของ ผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ผลิต หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องเสนอความคิดเห็นเข้ามา เพื่อนำมาพิจารณาและเสนอ บอร์ดกพช. โดยค่าไฟฟ้าในอัตรา 4.72 บาทนั้น เมื่อนำมาคำนวนคิดค่าไฟฟ้าแล้ว ทางด้าน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะได้คืนหนี้ในอัตรา 0.31 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากทางเลือกนี้ ได้มีการเสนอความคิดเห็นเข้ามาเป็นจำนวนมากทางกกพ. ก็จะมีการหารือกับกฟผ. ถึงสถานะการเงินเป็นอย่างไร จะสามารถอยู่ได่ในอนาคตหรือไม่ เพราะสถานการณ์ในอนาคตยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของราคาพลังงานอยู่ด้วย รวมถึงการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปจากเดิมที่ทางเลือกที่ 3 ได้กำหนดไว้เพียง 6 งวด (งวดละ 4 เดือน) เป็น 7 งวด ก็จะมีความเป็นไปได้

 

 

นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับการประมาณการค่าไฟฟ้าดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ และขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ โดยมีสมมุติฐานและปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 ตามการประมาณราคาก๊าซจาก ปตท. และผลการคำนวณค่าเอฟทีของ กฟผ. โดยมีปัจจัยที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

 

 

1. การจัดหาพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 เท่ากับประมาณ 72,220 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 4,387 ล้านหน่วยจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ม.ค. – เม.ย. 2566) ที่คาดว่าจะมีการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 67,833 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.47

 

 

2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 57.80 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวมร้อยละ 17.34 ลิกไนต์ของ กฟผ. ร้อยละ 7.89 เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน ร้อยละ 7.13 พลังน้ำของ กฟผ. ร้อยละ 2.74 น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.84 น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.03 และอื่นๆ อีกร้อยละ 6.23 ทั้งนี้ ประมาณการการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.75 จากรอบเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 เพื่อรองรับการใช้ LNG เพิ่มมากขึ้นจากแนวโน้มราคา LNG ในตลาดโลกที่มีราคาลดเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคา LNG

 

3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ม.ค.– เม.ย. 2566 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงอย่างมากโดยเฉพาะราคา LNG ในตลาดจร ที่ลดลงจาก 29.6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูเป็น 19-20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและราคาถ่านหินลิกไนต์ของ กฟผ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายต้นทุนทำเหมืองลิกไนต์ของ กฟผ. ที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาปรับตัวลดลงเล็กน้อยในรอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566

 

4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 เดือนย้อนหลังก่อนทำประมาณการ (1 – 31 ม.ค. 2566) เท่ากับ 33.23 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ้างอิงข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นฐานซึ่งแข็งค่าขึ้นจากประมาณการในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 ที่ประมาณการไว้ที่ 35.68 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งลดลง 2.45 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม นายคมกฤช ระบุว่า ในการพิจารณาค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 เป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากข้อมูลจริงเฉลี่ยในเดือน มกราคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทยอยเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

 

 

จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ กกพ. จะรับฟังความเห็นการทยอยคืนภาระค่าต้นทุนคงค้างให้กับ กฟผ. โดยยังคงสามารถรักษาระดับค่าไฟฟ้าในอัตราที่เหมาะสมเพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้นพร้อมรองรับสถานการณ์พลังงานโลกและอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงมีความผันผวนอย่างรุนแรง จากสถานการณ์รัสเซียยูเครน จากสถานการณ์การกดดันจากประเทศมหาอำนาจในด้านต่างๆ บนเวทีโลก และจากความต้องการพลังงานที่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น