สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพถ่าย "ดาราศาสตร์" กาแล็กซี NGC 1433 เปิดมุมมองใหม่สู่การศึกษาโครงสร้างกาแล็กซีในช่วงคลื่นรังสีอินฟราเรด
ข่าวที่น่าสนใจ
สถาบันวิจัยดารา ศาสตร์แห่งชาติ อัปเดตความก้าวหน้าวงการ “ดาราศาสตร์” เผยภาพถ่ายกาแล็กซี NGC 1433 จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (JWST) เผยให้เห็นรายละเอียดของฝุ่นและสสารที่กระจายตัวอยู่ภายในกาแล็กซีแห่งนี้อย่างชัดเจน เปิดมุมมองใหม่สู่การศึกษากาแล็กซีโครงสร้างของกาแล็กซีในช่วงคลื่นรังสีอินฟราเรด
กาแล็กซี NGC 1433 เป็นกาแล็กซีกังหันแบบมีคาน (Barred Spiral Galaxy) อยู่ห่างออกไปจากโลก 46 ล้านปีแสง เป็น 1 ใน 19 กาแล็กซีที่ถูกลิสต์ไว้ในรายการของโครงการ Physics at High Angular resolution in Nearby Galaxies (PHANGS) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ
- การศึกษากาแล็กซีอื่นที่อยู่ไม่ไกลจากโลกมาก โดยใช้ JWST ในการสังเกตการณ์ เพื่อให้ได้รายละเอียดเชิงลึกของกาแล็กซี เช่น
- โครงสร้างของกาแล็กซี บริเวณก่อตัวดาวฤกษ์
- พื้นที่ทึบแสงอื่น ๆ ที่ช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็นไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ เป็นต้น
จากภาพบริเวณแขนของกาแล็กซี NGC 1433 จะเต็มไปด้วยแนวฝุ่นที่หนาแน่น พร้อมกับจุดสว่างสีแดงที่แทรกตัวอยู่ระหว่างกลุ่มฝุ่นนี้ เป็นบริเวณที่มีการก่อตัวของดาวฤกษ์เกิดใหม่ หากมองในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น รายละเอียดทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเป็นเพียงกลุ่มฝุ่นมืด ๆ ที่ทึบแสงเท่านั้น
แต่หากสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด เราจะสามารถมองเห็นกลุ่มแก๊สเหล่านี้สว่างขึ้น ทั้งยังสามารถมองทะลุเข้าไปในกลุ่มฝุ่นหนาทึบที่มีดาวฤกษ์เกิดใหม่ได้อีกด้วย ขณะที่บริเวณใจกลางของกาแล็กซี เป็นบริเวณที่สว่างที่สุดในภาพ แสดงให้เห็นโครงสร้างของสสารที่เรียงตัวกันเป็นวงแหวน 2 ชั้น ซึ่งปลายแขนทั้ง 2 ข้างของกาแล็กซีถูกขมวดปมเข้ามายังบริเวณนี้
NGC 1433 จัดเป็นกาแล็กซีประเภท Seyfert Galaxy กล่าวคือ เป็นกาแล็กซีที่มีใจกลางเป็นหลุมดำยักษ์ ที่กำลังดึงดูดมวลสารรอบ ๆ เข้าหาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เกิดการปลดปล่อยสสารและรังสีพลังงานสูงออกมา ทำให้กาแล็กซีประเภทนี้มีบริเวณใจกลางที่สว่างมากกว่ากาแล็กซีทั่วไปหลายเท่า
ซึ่งการปลดปล่อยพลังงานจากหลุมดำที่ใจกลางเช่นนี้ เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับวัตถุอวกาศที่เรียกว่า เควซาร์ (Quasar) โดยมีความแตกต่างกันที่ เควซาร์นั้นเราจะมองเห็นเป็นแค่จุดสว่างบนท้องฟ้า เนื่องจากมีระยะห่างที่ไกลออกไปมาก ขณะที่ Seyfert Galaxy นั้นเราจะสามารถมองเห็นโครงสร้างของกาแล็กซีได้ชัดเจนกว่า เพราะ มีระยะห่างที่ไม่ไกลจากโลกมากเมื่อเทียบกับเควซาร์
ข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดารา ศาสตร์แห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง