“ดร.ณัฎฐ์” สอนมวย “ชูศักดิ์” สร้างราคาให้ตนเอง สวนกลับ “ณัฐวุฒิ ”เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่

ฟาดเดือด “ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชน สอนมวย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” เพื่อไทย สร้างราคาให้ตนเอง อดีตอธิการบดีรามคำแหง ความรู้คู่คุณธรรมอยู่ตรงไหน สวนกลับ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ”เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 ตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง นายณัฐวุฒิ วงศ์เนียม ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนให้ความเห็น กรณีที่พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นผู้ช่วยหาเสียงไม่อาจทำได้และการติดป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย มีแต่รูปของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร โดยไม่มีนโยบายของพรรคเพื่อไทย อาจเข้าข่ายถูกยุบพรรคนั้นว่าเป็นการให้ความเห็นทางวิชาการนั้นเป็นสิ่งทีทำได้และเคารพทุกความเห็น แต่ผู้ให้ความเห็นควรศึกษาข้อกฎหมายให้ชัดเจนและต้องอยู่บนพื้นฐานของไม่มีอคติ กรณีให้ความเห็นนั้น ชัดเจนว่ามีความคลสดเคลื่อนต่อข้อกฎหมายมาก

 

 

โดยโต้แย้งใน 2 ประเด็น ล่าสุด ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียมหรือ “ดร.ณัฎฐ์”นักกฎหมายมหาชนคนดัง ให้สัมภาษณ์สวนหมัดทันควันและสอนมวยนายชูศักดิ์ ศิรินิล ว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล เคยเป็นอดีตอธิการบดีและอดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอนลูกศิษย์ ให้มี “ความรู้คู่คุณธรรม” แต่วันนี้มาอยู่ฝ่ายการเมือง กลับลืมทั้งความรู้และคุณธรรม นักกฎหมายที่ดี จะต้องมีความรู้และคุณธรรม ผมเรียนจบปริญญาเอกปรัชญาสาขาการเมือง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโททางกฎหมายมหาชน ที่รั้วพ่อขุน ยังจดจำคำสอนได้ดี

 

 

ส่วนปริญญาเอกทางกฎหมายมหาชน เขียนดุษฎีนิพนธ์ด้านกฎหมายมหาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญโดยตรง ในหัวข้อดุษฎีนิพนธ์”บทบาทคณะกรรมการการเลือกตั้งในการอำนวยความยุติธรรมกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนพิเศษด้านกฎหมายมหาชนมายาวนาน คร่ำหวอดกับภาคปฎิบัติทางกฎหมายร่วมเกือบ 30 ปี ผลงานเชิงประจักษ์ ไม่เห็นจำต้องอ้างเลยว่า เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน อ้างอย่างเดียว คือ “ตัวบทกฎหมาย”และแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ออกมาพูดเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง เป็นเครื่องเตือนสติ อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวม ไม่ใช่เพื่อผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาการรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค.2557 เกิดจากสาเหตุอะไร นายชูศักดิ์ ย่อมทราบรายละเอียดเชิงลึกเป็นอย่างดี

 

 

หากไม่ทราบให้ไปถามนายจตุพร พรหมพันธ์ หรือ“ตู่ ศรัทธาธรรม”อดีตประธาน นปช. ผมไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด “ไม่มีพรรค มีแต่พวก”มีหลายพรรคการเมืองมาเทียบเชิญ แต่ปฎิเสธทุกพรรค หากวันไหนจะสังกัดพรรคการเมือง คุณชูศักดิ์ มาดีเบตข้อกฎหมายกับผมในประเด็นไหนก็ได้ ที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง นัดมาได้เลยช่องไหน วันเวลาใด อย่างไร อย่ามาสร้างราคาให้ตนเอง บุคคลที่กลับไปอ่านทบทวนกฎหมายใหม่ คือ คุณชูศักดิ์ ไม่ใช่ผมแน่นอน คนที่เกิดก่อน ไม่ได้หมายความมีความรู้กฎหมายมากกว่า

ข่าวที่น่าสนใจ

ส่วนประเด็นตั้งข้อสังเกตป้ายหาเสียงที่มีป้ายตามริมถนนสาธารณะมีแต่ป้ายของ อุ๊งอิ๊ง นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร ไม่มีภาพของนายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย สาเหตุที่ตั้งข้อสังเกตจากข้อสงสัยเพราะทุกพรรคการเมืองยกเว้นพรรคเพื่อไทย ขึ้นป้ายหัวหน้าพรรคและนโยบายพรรค ไม่มีพรรคการเมืองไหนเอาสมาชิกพรรค มาขึ้นป้ายหาเสียง ถือว่าแปลกดี เลยตั้งคำถาม ไม่มีข้อความใดระบุว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง ถามคุณชูศักดิ์ ว่า ตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย มีกฎหมายพรรคการเมืองรับรองหรือไม่ ทั้งสองตำแหน่งนี้ ได้เขียนระบุไว้ในข้อบังคับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ อย่างไร เอาหลักฐานมาแสดงด้วยนะ คุณชูศักดิ์ ต้องมาตอบด้วย ประชาชนจะได้หูตาสว่างเพราะประชาชนเขาไม่ได้กินหญ้า ผมไม่ได้โต้แย้งในระเบียบการหาเสียงว่า ติดป้ายนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร สามารถกระทำได้หรือไม่ คนละประเด็น อย่าหน้ามืดตามัว โชว์พาวเวอร์ข่มนักกฎหมายรุ่นน้อง ผิดคนแล้ว

 

ประเด็นที่สงสัยว่า นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ไม่เห็นมีแผ่นป้ายหาเสียง เพราะพรรคการเมือง คือ สถาบันทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หมวด 2 การดำเนินกิจกรรมพรรคการเมือง มาตรา 21 วรรคสอง ระบุ กก.บห.พรรค ประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิกและกรรมการบริหารอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยกับหัวหน้าพรรคการเมือง ใครมีอำนาจมากกว่ากันและประชาชนฝากถามมาว่า สองตำแหน่งนี้ ใครใหญ่กว่ากัน มีอำนาจตัดสินใจมากกว่ากัน แต่ผมว่าประชาชนเจ้าของอำนาจใหญ่กว่า แม้จะใช้เทคนิคให้นางสาวแพรทองธารฯ เป็นสมาชิกพรรค เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย คือ หากพรรคเพื่อไทยถูกยุบพรรค นางสาวแพรทองธาร ไม่ได้เป็น กก.บห.ทำให้รอดถูกตัดสิทธิการเมือง อีกประการหนึ่ง มาตรา ๒๘ บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครองงำพรรคการเมืองไม่ได้ เป็นเหตุในการยุบพรรคมาตรา 92(2) หากนางสาวแพรทองธาร เป็นสมาชิกพรรค จะไม่ถูกข้อหาครอบงำพรรคนำไปสู่การยุบพรรค

ส่วนประเด็นตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ บุคคลที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ถามกลับ นายชูศักดิ์ ว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ หากเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เอาหลักฐานมาแสดงต่อสื่อมวลชนด้วย ตามกฎหมายพรรคการเมือง ให้ถือสมาชิกพรรค ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่สมาชิกพรรคในอดีต ดั่งเช่นนายทักษิณหรือนางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยบุคคลที่จะเป็นสมาชิกพรรคจะต้องเข้าเงื่อนไข หลักเกณฑ์มาตรา 27 แห่ง พรป.พรรคการเมือง ผมชี้ช่องข้อกฎหมายเลยว่า กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา ๒๙ ห้ามเด็ดขาดกับบุคคลที่มิให้สมาชิกพรรคยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมือง โดยมาตรา 28 ห้ามพรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมือง โดยกำหนดพฤติการณ์การกระทำ ได้แก่ ควบคุม ครองงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิก ขาดอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เป็นหลักเกณฑ์ที่จะนำไปสู่การยุบพรรคตามมาตรา 92(3) เจตนารมณ์ให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ไม่ใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

 

 

นายชูศักดิ์ ไม่เห็นอธิบายให้ประชาชนทราบเลย การปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงบางส่วน ถือว่ามีคุณธรรมหรือไม่ ความรู้คู่คุณธรรม อดีตอธิการบดีและคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อยู่ไหนล่ะ การตั้งข้อสังเกตไม่ใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ตักเตือน จิ้งจกทักต้องฟัง ไม่ใช่ว่าจะเหมารวมว่าไปขวางแลนด์สไลด์หรือดิสเครดิตพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลก็เป็นไป แต่อย่าลืมติดตามตัวนายทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ฯที่ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกมาบังคับโทษตามกระบวนการยุติธรรมไทย คดีไหนแพ้ เคลือบแคลงสงสัยว่า ศาลไม่ยุติธรรม แต่คดีไหนชนะ บอกว่าศาลมีความยุติธรรม เพราะที่ผ่านมานายทักษิณฯประกาศผ่านโซเชี่ยลว่า จะกลับบ้านแบบเท่ห์ๆในปี 2565 แต่นี่เดือนมีนาคม 2566 แล้ว ให้พี่น้องประชาชนคนไทยคิดเอาเอง พูดตามเนื้อผ้า เดี๋ยวนายชูศักดิ์ฯจะสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่า อยู่ฝ่ายตรงข้ามการเมือง ดิสเครดิตพรรคเพื่อไทยอีก

 

ส่วนประเด็น ผู้ช่วยหาเสียง การตีความว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เข้าหลักเกณฑ์ผู้ช่วยหาเสียงหรือไม่ ตามระเบียบ กกต. แม้ทางพรรคเพื่อไทยจะอ้างว่าได้แต่งตั้งผู้ช่วยหาเสียงเพื่อหลบเลี่ยงข้อกฎหมาย แต่การแต่งตั้งผู้ช่วยหาเสียงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ เป็นอำนาจวินิจฉัยและชี้ขาดของ กกต.ไม่ใช่นายชูศักดิ์ฯ ที่ตีความเข้าข้างฝ่ายตนเอง แต่เมื่อคืนฝันว่า การแต่งตั้งผู้ช่วยหาเสียงของนายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ ไม่เข้าหลักเกณฑ์นะ ไม่ว่าทางแก้ จะออกช่องผู้ช่วยหาเสียงหรือรับจ้างทำของ ผลทางกฎหมายจะมาติดกับดักคำว่า “บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค”ตามกฎหมายพรรคการเมือง เพราะขณะปราศรัย กก.บห.พรรคเพื่อไทย รู้เห็นเป็นใจ ยินยอม ส่วนคำปราศรัยแสดงพฤติการณ์ขนาดไหน ขอบเขตเพียงใด อย่างไรให้ประชาชน ไปย้อนฟังเทปในวันปราศรัยดูทางระบบออนไลน์ทางเฟซบุ๊ก เทคนิคการแต่งตั้งผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เป็นการตั้งฝ่ายเดียวและยื่นให้ กกต.ประจำจังหวัดทราบ หลบเลี่ยงข้อกฎหมาย ซึ่งขณะนี้กกต.ชุดใหญ่ ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยเลยว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็นผู้ช่วยหาเสียงหรือไม่ เชื่อว่า ประเด็นนี้ จะถูกนำไปวินิจฉัยและชี้ขาดในชั้น กกต.

 

ส่วนนายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการกฎหมายฯ ผมไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวและไม่รู้จักมาก่อน ที่ให้ความเห็นตามที่นักข่าวสัมภาษณ์เป็นการให้ความรู้แง่มุมกฎหมายมหาชน โดยไม่มีอคติกับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคการเมืองใด และไม่ได้ให้ท้ายนายสนธิญาฯ โดยผมมีอิสระตามเสรีภาพทางวิชาการตามรัฐธรรมนูญและการให้ความเห็นถูกต้องตามหลักกฎหมายทุกประการ ข้อโต้แย้งของนายชูศักดิ์ฯ เป็นการหยิบมาโต้แย้งบางส่วน ไม่ครบถ้วน คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ควรนำข้อเท็จจริงเหล่านี้ ไปแก้ข้อกล่าวหาที่มีบุคคลต่าง ๆ ร้องยุบพรรคเพื่อไทยพร้อมพยานหลักฐาน ในชั้น กกต.หรือในชั้นแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นประโยชน์แก่พรรคการเมืองที่ตนสังกัดมากกว่า

เท่าที่ติดตามการปราศรัยทุกพรรคการเมือง ตั้งข้อสังเกตว่า พรรคการเมืองอื่น ๆ ประชาชนหรือมวลชนที่มาฟัง สวมเสื้อผ้าปกติ หลากสี จำนวนมวลชน มากบ้าง น้อยบ้าง ถือเป็นปกติทั่วไป แต่การปราศรัยของพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า เวทีปราศรัยต่าง ๆ กล้องแพลนไปจับภาพ ประชาชนที่มาฟัง สวมเสื้อสีเดียวกันและมีอักษร โลโก้ เหมือนกันแทบทั้งหมด สะกิด กกต.ช่วยส่งคนไปสังเกตการณ์ในขณะทำกิจกรรมหาเสียงด้วย หากพบว่า การเกณฑ์คนโดยอามิสสินจ้างและแจกสิ่งของจูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เข้าข่ายตามความในมาตรา 68(1) ประกอบมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2560 และฉบับที่แก้ไขใหม่ มีบทลงโทษทางอาญา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เมียไรเดอร์ เปิดใจเสียงสั่น กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังรู้ข่าว หนุ่มอินเดียซิ่งเก๋งได้ประกันตัว ลั่น ‘คนมีเงินมันยิ่งใหญ่’
นายกฯ เปิดงาน Thailand Reception เชิญชวนสัมผัสเสน่ห์อาหารไทย ชูศักยภาพเศรษฐกิจ
จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น