จ.ตราด/ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการทำมาหากินของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เช่น การทำไร่อ้อย ปลูกอ้อยแล้วใช้วิธีการเผาให้ใบอ้อยไหม้ และบางครั้งเกิดจากกิจกรรมทางความเชื่อของการทำการทำมาหากินของชาวบ้านในแต่ละภูมิภาค เช่น จุดไฟเผาป่า หญ้าอ่อนก็จะเกิดขึ้น พวกสัตว์ป่า เช่นกระต่าย หรือสัตว์อื่น ๆ เข้ามากินก็จะได้ล่าสัตว์ บางพื้นที่ก็เชื่อว่าจะเกิดเห็ด อย่างเห็ดเผาะ เห็ดโคน ซึ่งจะงอกงามดี บางส่วนก็จะเกิดจากธรรมชาติจริง ๆ บางส่วนก็เกิดจากการทำของมนุษย์ ซึ่งในยุคปัจจุบัน การเกิดไฟป่าถือว่า เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพพลานามัยของประชาชน ซึ่งฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาป่า ความเจริญทางการแพทย์ได้พิสูจน์แล้วว่า ฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้ที่มีขนาดเล็ก ที่เราเรียกว่า PM 2.5 จะเป็นอันตรายต่อปอด หรือระบบทางเดินหายใจและเกิดผลเสียต่อสภาวะของโลกเช่นโลกร้อน หรืออากาศแปรปรวน วิปริต ในเรื่องนี้ ในระยะยาวทางกระทรวงมหาดไทยได้ผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนในการรณรงค์ส่งเสริมให้คนมีความรู้และความเข้าใจจากผลกระทบจากไฟป่าให้ถูกต้องว่าป่าที่อุดมสมบูรณ์นำมาซึ่งพืชพันธุ์ธัญญาหารในป่า ทั้งเห็ด ทั้งหน่อไม้ และพืชพรรณอื่น ๆ สารพัดที่ไม่ได้เกิดจากไฟป่า ซึ่งจะทำให้เม่น หรือสัตว์ป่าอื่น ๆ ถูกไฟคลอกตายจำนวนมาก หรือนกตัวเล็ก ๆ ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย อีกทั้งยังทำลายความสมบูรณ์ของต้นไม้ใบหญ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความสมดุลย์ของอากาศ ส่วนนี้จะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในระยะยาว
ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า สำหรับในระยะสั้นนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดได้รับนโยบาย จากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่จะให้ทุกจังหวัดเข้าไปรณรงค์และหาแนวทางให้ผู้นำท้องถิ่น และท้องที่ได้ช่วยกัน สร้างความรู้ความเข้าใจ ในขณะเดียวกัน หากไม่สามารถที่จะดำเนินการพูดคุยที่จะทำให้พี่น้องประชาชนลดละ เลิก การเผา ก็ให้ใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม เราเชื่อมั่นว่าหากพี่น้องประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องของการประกอบอาชีพแล้ว ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องถิ่น และฝ่ายทหาร ร่วมกับฝ่ายบรรเทาสาธารณภัย หรือ อพปร. ก็ได้ร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้การดับไฟป่าทั้งด้านกำลังพลและเครื่องมือ หรือเครื่องบิน รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ หรือใช้การทำทางกันไฟ