วันที่10 ส.ค. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบรายงานผลการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบด้วย
1.มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) และลูกหนี้รายย่อยด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมทั้งสถาบันการเงิน ได้ดำเนินมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สินโดยพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง เริ่มตั้งแต่งวดชำระหนี้เดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม 2564 แล้วแต่กรณี และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการพักชำระหนี้แล้วจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้
นอกจากนี้จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่มีรายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้เป็นกรณีไป
อย่างไรก็ตามการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวอาจจะกระทบต่อฐานะ และผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งตัวชี้วัดทางการเงินที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ผูกพันไว้กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ จึงได้มอบหมายให้สคร.พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแล้ว
2.มาตรการควบคุมการทวงถามหนี้ที่ดำเนินการไม่เป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับติดตามทวงถามหนี้ เรื่อง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้ และมอบหมายฝ่ายเลขานุการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
นอกจากนี้ กรณีประชาชนพบผู้ทวงถามหนี้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด และประจำกรุงเทพมหานครได้