กำลังเป็นประเด็นร้อน พร้อม ๆ กับการทำหน้าที่ของ Top News ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อร้องเรียนเรื่องราคาไฟฟ้าของประเทศไทยมีราคาสูงเกินจริง เพราะนโยบายภาครัฐ ว่าด้วยการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามีบทบาท ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า จนกลายเป็นการเปิดช่องโหว่ให้กลุ่มทุนสามารถเข้ามาผูกขาด แสวงหาผลประโยชน์จากการจำหน่ายไฟฟ้า ให้กับองค์กรรัฐอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.
ทั้งนี้จุดเริ่มต้นที่ทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องราคาไฟฟ้ามีอัตราสูง ไม่ใช่แค่ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และ ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่กรณีนี้ทางกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล และผู้เกี่ยวข้อง หยุดยั้งกระบวนการสนับสนุนให้กลุ่มทุนเอกชน เพิ่มอำนาจการต่อรองเรื่องค่าไฟฟ้า ในลักษณะผูกขาดพลังงานของประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) จำนวน 80 คน นำโดย นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เรียกร้องขอให้ยุตินโยบายตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 58)โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นผู้แทนฯ รับเรื่องไว้ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
พร้อมระบุว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับมติเห็นชอบแนวนโยบายในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าโดยภาครัฐ ที่ฝ่ายบริหาร กฟผ. จะดำเนินการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าออกจาก กฟผ. ด้วยเหตุผล ดังนี้
1. แนวนโยบายในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าโดยภาครัฐทั้ง 3 ข้อ มีเป้าหมายต้องการให้ กฟผ.บริหารแบบเอกชนหรือเป็นการแปรรูปทางอ้อม โดยทำให้ กฟผ. เป็นเอกชนโดยปริยาย ส่งผลทำให้บทบาทหน้าที่ของ กฟผ. จะเปลี่ยนไป ความมุ่งหมายขององค์กรก็เปลี่ยนไป จากทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เป็นการมุ่งกำไร เช่นเดียวกับเอกชนซึ่งขัดต่อ พรบ.กฟผ. พ.ศ. 2511 มาตรา 41 ในการดำเนินกิจการของ กฟผ. ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน
2. ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ามีบทบาทหน้าที่ มีอำนาจควบคุมด้านความมั่นคงและความเป็นธรรมของระบบไฟฟ้าของประเทศ เป็นการควบคุมที่มีผลประโยชน์ ปัจจุบันรัฐมีนโยบายเอื้อประโยชน์เอกชน องค์กรนิติบุคคลใหม่ถึงแม้ว่าจะเป็นองค์กรของรัฐก็ย่อมให้ประโยชน์แก่เอกชน ในกิจการไฟฟ้าเมื่อเอื้อต่อเอกชนมากเกินไปย่อมเป็นการทำลายรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นไปเอง อันเป็นการทำลายผลประโยชน์ของชาติและประชาชน
3. ตาม พ.ร.บ. ประกอบกิจการพลังงาน ในมาตรา 8(5) รัฐ หมายถึง 3 การไฟฟ้าเท่านั้น ( กฟผ.,กฟภ,และ
กฟน.) ไม่มีองค์กรอื่น และแต่ละองค์กรก็ประกอบกิจการตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้ประกอบกิจการระบบส่งไฟฟ้า โดยที่ระบบส่งไฟฟ้าครอบคลุมไปถึงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ. ประกอบกิจการพลังงาน ความพยายามในการแยกศูนย์ควบคุม ฯ จึงเป็นเรื่องผิดปกติ