สืบเนื่องจากผู้บริหารและพนักงาน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ออกมาเคลื่อนไหวตอบโต้กระบวนการพิจารณาข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีการจัดทำสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย รวมถึงเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินค้างชำระจำนวนเกือบ 5 หมื่นล้านบาท
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า กทม.พร้อมพูดคุยกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ที่คาราคาซังมานานกว่า 4 ปี หลังจากเมื่อวันที่ 14 มี.ค.66 พนักงานบีทีเอส ยื่นข้อเรียกร้องพล.อ.ประยุทธ์ ขอให้เข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินจากการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการจะพิจารณาหยุดการเดินรถส่วนต่อขยาย โดยมองว่าถ้าหากเกิดเหตุการณ์หยุดเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจะกระทบต่อประชาชน ซึ่งทางกทม.และบีทีเอส คงไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนขึ้นในการเดินทาง พร้อมยอมรับว่า คงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเข้ามาดูแลและพิจารณาประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้น
ล่าสุดนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชน กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยกับทีมข่าว TOPEWS ว่า การที่พนักงานบริษัทได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากมีความกังวลในชีวิตของพนักงานในวันข้างหน้า เพราะเกรงว่าบริษัทจะไม่มีเงินค่าจ้างจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงาน จึงได้มีการรวมตัวกันและไปยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี โดยทางผู้บริหารได้มีการเรียกพนักงานเหล่านั้น มาพูดคุยหารือกัน
โดยข้อเเรก เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่พนักงาน บริษัทได้แจ้งว่า บีทีเอสไม่ได้มีธุรกิจรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพียงธุรกิจเดียว แต่ยังมีธุรกิจอื่นๆ ร่วมด้วย จึงไม่ต้องกังวลและไม่ต้องเป็นห่วงต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งในส่วนของนโยบายของบริษัท โดยเฉพาะนโยบายของนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ที่ชัดเจนว่า
จะไม่มีการหยุดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างแน่นอน และไม่เอาประชาชนมาเป็นตัวกัน โดยจะเดินรถจนถึงวันสุดท้ายที่บริษัททำไมไหว ซึ่งปัจจุบัน เงินที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ เป็นเงินกู้ เนื่องจากบริษัทมีรายได้เข้ามาน้อยมาก จึงต้องกู้เงิน และหากวันนี้ ทางด้านเจ้าหนี้ ยังให้ความเชื่อมั่นและยังให้บริษัทกู้เงินอยู่ บริษัทก็ยังจะเดินรถต่อไป แต่หากเจ้าหนี้ไม่เชื่อมั่น ไม่ให้บริษัทกู้เงิน อาทิ มีการปล่อยข่าวทำให้เจ้าหนี้มีความกังวล และไม่ให้กู้เงิน ก็จำเป็นที่จะต้องหยุดเดินรถ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น บริษัทจะมีการแจ้งให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมตัวได้ทัน โดยบริษัท ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จึงต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาภาระหนี้โดยเร็ว