ค่าไฟแพงเกินจริง TOP NEWS ชำแหละเบื้องหลัง อำนาจรัฐเอื้อทุนเอกชน

ค่าไฟแพงเกินจริง TOP NEWS ชำแหละเบื้องหลัง อำนาจรัฐเอื้อทุนเอกชน

ติดตามต่อเนื่องกับการทำหน้าที่ของ TOP NEWS กรณีข้อร้องเรียนเรื่องค่าไฟแพง และการที่ กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล และผู้เกี่ยวข้อง หยุดยั้งกระบวนการสนับสนุนให้กลุ่มทุนเอกชน เพิ่มอำนาจการต่อรองเรื่องค่าไฟฟ้า ในลักษณะผูกขาดพลังงานของประเทศ

เนื่องจากแนวนโยบายในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าโดยภาครัฐ ที่มีเป้าหมายต้องการให้ กฟผ.บริหารแบบเอกชนหรือเป็นการแปรรูปทางอ้อม จะทำให้ กฟผ. เป็นเอกชนโดยปริยาย และส่งผลทำให้บทบาทหน้าที่ของ กฟผ. จะเปลี่ยนไป จากการทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เป็นการมุ่งกำไร เช่นเดียวกับเอกชนซึ่งขัดต่อ พรบ.กฟผ. พ.ศ. 2511 มาตรา 41 ในการดำเนินกิจการของ กฟผ. ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน

รวมถึง สร.กฟผ. ยังไม่เห็นด้วยกับมติที่เห็นชอบให้ยกเลิกการใช้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง(Reseve Margin) และให้เปลี่ยนมาใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation : LOLE ) เป็นเกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพราะว่าเป็นการบิดเบือนหลอกลวงประชาชน หลบเลี่ยงคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ

โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย กรณีที่กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ว่าด้วยการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ทำให้สัดส่วนกําลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ ‘ไม่ขัด’ หรือ ‘แย้ง’ ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง

แต่ได้ระบุไว้ชัดเจนในคำวินิจฉัยเน้นย้ำ สิ่งที่หน่วยงานเกี่ยวข้องกับการพิจารณาแผนพัฒนาและการผลิตไฟฟ้าประเทศไทย ว่า “กิจการพลังงานไฟฟ้า เป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจำเป็นต้องดำเนินกิจการพลังงานไฟฟ้า เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม

การผลิตไฟฟ้าที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง มีปริมาณเพียงพอ และทั่วถึง ในราคาที่เป็นธรรม และมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ตอบสนองความต้องการภายในประเทศ และการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องพัฒนาความมั่นคงของรัฐและประโยชน์ของประชาชน

ดังนั้น รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน

อันจะผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน ให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริง ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะ อาจถูกดำเนินการโดยองค์กรหรือศาลอื่นได้”

ข่าวที่น่าสนใจ

ขณะที่ล่าสุดในรายการ Top Biz Insight ได้มีการขยายประเด็นเรื่องต้นเหตุค่าไฟฟ้าแพง โดยชี้ให้เห็นส่วนต่างระหว่างราคาขายกับราคาซื้อไฟฟ้า ระหว่างกฟผ.และบริษัทเอกชนผู้ผลิต ว่า กรณีนี้เป็นที่โจษขานอยู่พอสมควร เพราะราคารับซื้อไฟฟ้าของกฟผ. อยู่ที่ 9 บาทกว่า หรือเท่ากับเป็นการขาดทุนตั้งแต่พิจารณารับซื้อมาเก็บสำรองแล้ว เพราะปัจจุบันประชาชนทั่วไปจ่ายค่าไฟอยู่ที่หน่วยละ 4 บาท 72 สตางค์

และแม้ว่า ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) จะให้คำอธิบายว่า ไม่ได้ซื้อไฟฟ้าในราคา 9 บาทกว่าทั้งหมด เพราะบางแหล่ง กฟผ.ได้ซื้อมาในราคาหน่วยละ 1 บาทกว่า ก่อนนำมาเฉลี่ยต้นทุนขายให้กับประชาชนใน ราคาหน่วยละ 4 บาท 72 สตางค์

แต่ก็มีข้อเท็จจริงที่ต้องนำสืบต่อไปว่า ทำไมกฟผ.ต้องซื้อไฟฟ้าในราคาแพง จนได้คำตอบว่า ไม่ใช่บทบาทของกฟผ. แต่เป็นเรื่องของกกพ. หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่กำหนดให้กฟผ. รับซื้อ ราคาเท่านี้ เท่านั้น

ถามว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. คือใคร โครงสร้างเป็นอย่างไร พบว่าตามพ.ร.บ.การประกอบพลังงาน 2550 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2550 ในการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงาน ได้แยกงานนโยบาย การกำกับดูแลการพลังงาน ออกจากกันอย่างชัดเจน พร้อม ๆ กับวางหลักเกณฑ์การเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และมีบทบาทประกอบกิจการพลังงานอย่างมั่นคง เพียงพอต่อกำลังการใช้ภายในประเทศ

ส่วนโครงสร้างคณะกรรมการกกพ. จำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วย 1.นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 2.นายสุธรรม อยู่ในธรรม 3.นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ 4.นายสหัส ประทักษ์นุกูล 5.นายนรินทร์ โอภามุรธาวงศ์ 6.นายพิทักษ์ จรรยพงษ์ และ 7.นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา

 

โดยนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ คือ อดีตรองปลัดกระทรวงพลังงาน และเคยเป็นผู้บริหารกองทุนพลังงาน ในการทำหน้าที่ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในปี 2563 และ ผอ.สถาบันการบริหารพลังงานองค์การมหาชน ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุน ผลักดันเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งต่อมาในปี 2563 มีนโยบายเพิ่มพลังงานชีวมวล ชีวภาพ เพิ่มเติมเข้าไปในโครงการ เพื่อรองรับพลังงานไฟฟ้า และโครงการไฟฟ้าเพื่อชุมชน รวมทั้งพบว่ามีส่วนร่วมในการประกาศรับสมัครผู้ที่จะขายไฟฟ้าให้กับกฟผ. และมีหน้าที่กำกับโครงการดังกล่าว

ส่วน นายสุธรรม อยู่ในธรรม พบว่าเป็นอดีตคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ , อดีตรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เคยเป็นนักวิจัยนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ชำนาญการ ประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเป็นที่ปรึกษา ประจำคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

-นายสหัส ประทักษ์นุกูล เคยดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เอ็กโก กรุ๊ป ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย

-นายนรินทร์ โอภามุรธาวงศ์ เคยทำงานที่ International Economic and Social Affairs Division (Research Analyst) องค์การสหประชาชาติ United Nations, New York, สหรัฐอเมริกา รวมถึงการมีตำแหน่งเป็น กรรมการ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด และ กรรมการอิสระ ธนาคารอาคารสงเคราะห์

-นายพิทักษ์ จรรยพงษ์ อดีตผู้บริหารระดับสูง สายก๊าซธรรมชาติของปตท.และ ตามข้อมูลเคยเป็นที่ปรึกษา บริษัท กัลฟ์เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

-นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษาะ เคยเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

 

 

ทั้งนี้มีข้อพิจารณาเพิ่มเติมว่าในการแต่งตั้ง 3 กรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. รอบล่าสุด ปรากฎว่าบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีในแวดวงพลังงานต่างตกรอบการคัดเลือก อาทิ นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) , น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต อดีตเลขาธิการสำนักงาน กกพ. , นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน , นายยงยุทธ จันทโรทัย อดีตอธิบดี​กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์​พลังงาน (พพ.)​ , นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. , นายชัยยงค์ พัวพงศกร อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง , นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการ กฟผ. และ นายปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

ย้อนกลับมาพิจารณาโครงสร้างของกพช. หรือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 11 ธ.ค.50 และมีทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน หมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ. ภายใต้นโยบายของรัฐ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กกพ.

 

โดยกรอบอำนาจหน้าที่การเป็นผู้กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการกิจการพลังงาน ประกอบด้วย

1. เสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี
2. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ
3. ติดตาม ดูแล ประสาน สนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการทั้งหลายที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ
4. ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ
5. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ส่วนคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ประกอบด้วย
1. นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
2. รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย รองประธานกรรมการ
3. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย กรรมการ
4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรรมการ
5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการ
6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ
7. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหการณ์ กรรมการ
8. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรรมการ
9. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการ
10. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรรมการ

11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ
12. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
13. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรรมการ
14. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ
15. ปลัดกระทรวงพลังงาน กรรมการ
16. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา กรรมการ
17. เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
18. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
19. ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ

 

ทั้งหมดนี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ Top News พยายามชี้ให้เห็นว่าเกี่ยวข้องกันในการกำหนดทิศทางนโยบายพลังงานไฟฟ้าของประเทศ และ มีส่วนสำคัญในการจะทำให้ราคาไฟในประเทศแพงหรือถูก เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนคุณภาพชีวิตประชาชน ที่ยังคงต้องแบกรับภาวะค่าครองชีพรอบด้านในอัตราสูง

โดยเฉพาะเมื่อกลับมาดูการทำหน้าที่ของกกพ. นอกจากจะเป็นผู้กำกับดูแลด้านพลังงาน ว่าด้วยการกำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกฟผ.กับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังมีบทบาทในเรื่องการบริหารจัดการ ว่าด้วยแผนการสำรองไฟฟ้า โดยพบว่าก่อนหน้านี้เคยมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปี 2565-2573 และกำหนดว่าจะประกาศผลการคัดเลือกในช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย.2566

 

 

และนี่ทำให้เกิดประเด็นข้อคำถามว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสมหรือไม่ ในฐานะที่กกพ.เป็นผู้กำกับดูแลด้านพลังงาน แต่กลับลงมาเป็นทั้งกรรมการและผู้เล่นเอง

“วันนี้กกพ.ออกระเบียบ แล้วบอกว่าจะประกาศผู้ผ่านการคัดเลือก ภาษาชาวบ้านคือ ชงแล้วก็ชิม อร่อยมั้ย ถ้าไม่อร่อยไม่เอา เอาแก้วใหม่มา อันนี้เพียงตั้งข้อสังเกตว่าการทำงานของ คณะกกพ.ทั้ง 7 ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่กำหนดมาโดยพ.ร.บ.จัดตั้ง จึงอยากถามว่าไฟฟ้าที่กกพ.กำหนดรับซื้อ มีอะไรบ้าง การจำแนกทั้งก๊าซชีวภาพ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน + BESS และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เนื่องจากทั้งหมดนี้ในช่องเมกกะวัตต์ บังเอิญไปตรงกับปริมาณการผลิต ของบริษัทเอกชนรายใหญ่หนึ่งราย”

นอกจากนี้จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ มีกำลังผลิตกำลังไฟฟ้า โดยประมาณที่ 5,800 เมกกะวัตต์ และมีข้อมูลว่าปริมาณไฟฟ้าที่นำออกขาย สามารถสร้างรายได้มูลค่าเป็นแสนล้านบาท ทำให้การซื้อล็อตนี้ ถือว่าเป็นการซื้อล็อตใหญ่สุดที่เคยมีมา จนถูกตั้งตั้งถามว่า อนาคตต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับโครงสร้างระบบพลังงานของประเทศไทย

 

 

 

และตามสัญญาในระบบไฟฟ้า จากข้อมูลปี 2565 กฟผ.ต้องให้เอกชนผลิตไฟฟ้าตามสัญญาในสิ้นเดือนธันวาคม 2565 เพื่อให้ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้ จำนวน 53,336 เมกกะวัตต์ และถ้าเอา 9 คูณเข้าไป จะกลายเป็นรายได้มหาศาล ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าแพงหรือไม่แพง แต่มีข้อคำถามว่าภาระบางส่วนจะถูกผลักไปที่ไหน ใช่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคใช่หรือไม่

 

 

เพราะค่าไฟฟ้าของไทย อยู่ที่ 4.77 บาท ต่อกิโลวัตต์ ถ้าไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น อังกฤษ เยอรมนี แม้ว่าอาจเทียบไม่ได้ เพราะประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย เห็นได้ชัดเจนวันนี้ค่าไฟเราแพงกว่าประเทศเหล่านี้ แพงกว่าอินโดนีเซีย กว่าเวียดนามและมาเลเซีย ส่วนเหตุผลที่ต้องแพง ก็ต้องย้อนไปถามว่าเป็นเพราะการกำหนดนโยบายการจัดเก็บค่าไฟฟ้า โดยการให้่กฟผ.ไปซื้อไฟในราคาแพงจากเอกชนใช่หรือไม่

 

 

ขณะที่ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Arnond Sakworawich” ถึงกรณีดังกล่าวว่า “ผมคิดในใจทันทีว่าแพงเพราะนาย ส กลางอ่าว บริษัทของนาย ส กลางอ่าว ทำสัญญาอะไรไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จึงจำเป็นต้องสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยไว้เกินกว่า 50% ทำให้ชาวบ้านและคนไทยตาดำๆ เสียค่า FT แพงโคตรแพงครับ ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่ต้องสำรองไฟฟ้าไว้มากเกินไปขนาดนั้นครับ”

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ครูบาอริยชาติ เกจิภาคเหนือวัดแสงแก้วโพธิญาณ เชียงราย สร้างพระพุทธเมตตา จากหยกรัสเซียใหญ่ที่สุดในโลก น้ำหนักกว่า 10 ตัน
นายกฯ-สามี พา "น้องธิธาร" ลูกสาว วิ่งเล่นสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า
กระทรวงดีอี – ดีป้า เปิดศึกบิน – ซ่อมโดรนเกษตรชิงแชมป์ประเทศไทย ในรายการ “Thailand Agriculture Drone Competition 2024”
รพ.อาภากรเกียรติวงศ์ฯ นำ จนท.ตรวจสารเสพติดทหารใหม่ 2,911 นาย เพื่อค้นหาผู้เสพยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
รถบรรทุกปูนพลิกคว่ำขวางถนนรถติดยาวหลายกิโล
รองนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำภาคอีสาน คุมเข้มแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมเร่งขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง
เลือกตั้งสหรัฐ: ทั้งสองพรรคมั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง
แคปซูลส่งกลับ 'เสินโจว-18' ของจีนแตะพื้นโลกปลอดภัย
ผู้เสียหายรวมตัวแจ้งความ "หมอดูฮวงจุ้ยชื่อดัง" เอาผิดฐานฉ้อโกง หลังหลอกให้สั่งซื้อวัตถุมงคลแพงลิ่ว
แวะปั๊มก่อนเลย พรุ่งนี้น้ำมันขึ้นราคา เบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ปรับทุกชนิด

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น