โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์
การสร้างแรงปรารถนา ไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะทุกคนมีความปรารถนาในใจกันอยู่แล้ว แรงปรารถนาพื้นฐานคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ วิธีสร้างแรงปรารถนาก็ทำง่าย ๆ คือ “พูดในสิ่งที่รื่นหู” เช่น คิดอ่านจะทำการสิ่งใดก็ขอให้ได้สิ่งนั้นสำเร็จสมดังปรารถนาจงทุกประการเทอญ ไม่ก็ขอให้ถูกหวยรวยเบอร์ ประมาณนั้น ไม่ต้องไปสนใจว่าปัจจัยของการได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการนั้นมันคืออะไร เพราะไม่รื่นหู
อย่าไปบอกเขาเชียวว่าลาภ ยศ สรรเสริญ น่ะต้องลงมือทำงานอย่างสุจริตอดทน มันจึงจะได้มา นั่นมันเรื่องจริง มันเหนื่อย เขาเหนื่อยอยู่แล้ว แต่แรงปรารถนาเป็นความต้องการในใจเขา อยากมี อยากได้ อยากเป็น ฯลฯ สรรพ “อยาก” … มันคนละเรื่องกันเลย
ถ้าจะสร้างแรงปรารถนากลุ่ม ก็ดูว่ากลุ่มที่เราจะพูดด้วยเขาเดือดร้อนเรื่องอะไรมาก แล้วก็พูดว่าแรงปรารถนาของท่านผู้เจริญทั้งหลายนี้จะสำเร็จจงทุกประการภายในพริบตาเพราะข้าพเจ้าจะบันดาลให้ ยิ่งพูดตรงกับความอยากของกลุ่มมากเท่าไร ยิ่งได้ใจ
ถ้าเป็น Prince Charming มาสร้างแรงปรารถนาด้วยนี่คนจะกรี๊ดมาก มันเป็นธรรมดาของโลก
ข้อห้ามประการเดียวของการสร้างแรงปรารถนาคืออย่าพูดว่า ถ้าจะให้สำเร็จตามปรารถนานั้น คนฟังจะต้องทำอะไรบ้าง … ก็บอกตั้งแต่แรกแล้วไงว่าเขาอยากได้ อยากมี อยากเป็น โดยไม่ต้องทำอะไร เต็มที่ก็ให้พูดว่าทำน้อยแต่ได้มาก ก็พอได้อยู่
ส่วนการสร้างความเชื่อมั่น (trust) นั้น ต้องทำให้คนฟังมีความมั่นใจ (confidence) ว่าคนนั้นทำได้อย่างที่พูดจริง ๆ … อันนี้ทำยากอยู่ เพราะมันไม่ใช่พูดอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวข้องกับ “การกระทำ” และวัตรปฏิบัติกับผลงานที่ผ่าน ๆ มาของคนนั้นด้วยว่าพูดจริง “ทำจริง” และ “ทำได้” บ้างหรือเปล่า มีความรับผิดชอบหรือเปล่า
ผู้มีทักษะในการสร้างแรงปรารถนา จึงอาจไม่มีทักษะในการสร้างความเชื่อมั่นเลย ตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมระหว่างผู้มีทักษะทั้งสองประการนี้คือผลงานที่ผ่านมา
อย่างที่บอกตะแรกว่าการสร้างผลงานมันต้องใช้สมอง ใช้กำลัง ใช้เวลา และมีเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่กว่าจะได้ผลงานมามันยาก การโชว์ผลงานอย่างเดียวจึงอาจไม่โดนใจ
วิชาการล้วน ๆ นะนี่