วันที่ 20 มี.ค.66 ที่ทำเนียบรัฐบาลนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหารือกับนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ว่า ได้แจ้งให้ทราบว่า กกต. จะออกประกาศภายใน 5 วัน นับตั้งแต่วันยุบสภาฯ ซึ่งจะมีรายละเอียดประกอบไปด้วยจะเลือกตั้งวันไหน สถานที่รับสมัคร ทั้ง ส.ส. แบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ โดยไม่ต้องออกพระราชกฤษฏีกาอื่นใดอีก ซึ่งเป็นประกาศเท่านั้น เพราะพระราชกฤษฏีกา เป็นประกาศให้มีการเลือกตั้งในตนเอง ซึ่งคาดว่าไม่เกินวันศุกร์ที่ 24 มี.ค.นี้จะมีการออกประกาศดังกล่าว โดย กกต เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง วัน เวลา สถานที่ในการสมัคร ส่วนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ได้ประชุมร่วมกับพรรคการเมืองแล้วมีข้อตกลงว่า สำหรับ ส.ส. บัญชีรายชื่อค่าใช้จ่ายรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 44 ล้านบาท ส่วน ส.ส.เขตแต่ละคน ต้องไม่เกินคนละ 1 ล้าน 9 แสนบาท ส่วนวิธีปฎิบัติตัวของข้าราชการจากนี้ไป ก็เป็นไปอย่างที่รู้กันตามมาตรา 78 กฎหมายเลือกตั้ง การวางตัวของข้าราชการไว้ 2 อย่าง คือ 1 ในกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน กับ 2 ในกฎหมายเลือกตั้ง บางอย่างแม้ไม่ผิดกฏหมายเลือกตั้งแต่ผิดกฎหมายข้าราชการพลเรือน เช่นสมมติข้าราชการการเมืองไปช่วยหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่ผิดกฎหมายข้าราชการพลเรือน ซึ่งถือมีความผิดทางวินัยก็เท่านั้นเอง รวมถึงในเวลานอกราชการด้วย จะผิดวินัย จึงอย่าไปร้องเรียนกับ กกต. เพราะไม่สามารถรับร้องเรียนในข้อนี้ได้
สื่อถามว่าในนัยยะก็ห้ามให้ข้าราชการการเมืองไปช่วยหาเสียงใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถูกต้องไม่ว่ากฎหมายใดกฏหมายหนึ่งก็ต้องมีโทษอยู่แล้ว แต่ว่าในกรณีของนักการเมือง เช่นเป็นรัฐมนตรี แล้วลงสมัครรับเลือกตั้ง ตรงนี้ก็ไม่ได้ใช้กฏหมายข้าราชการพลเรือน แต่ใช้กฏหมายเลือกตั้ง ซึ่งบอกว่า ห้ามให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่ง อำนาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำอันใดเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร เช่นการไปแจกโฉนดชุมชน หากไปแนะนำตัวผู้สมัครบนเวทีไม่ได้ แต่เสร็จภารกิจ จะไปขึ้นเวที ไปเดินตลาดหาเสียง ไม่เป็นไร และจะเดินทางไป-กลับโดยเครื่องบินหลวงก็ไม่เป็นก็ถือว่าไปตรวจราชการ
ในส่วนข้าราชการที่เข้าไปสนับสนุนผู้สมัคร นายวิษณุ ระบุว่า ข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางตามกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน รวมถึงข้าราชการใน อบจ.และหน่วยงานท้องถิ่นก็สามารถช่วยหาเสียงได้ในเวลานอกราชการเท่านั้น
ส่วนค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเลือกตั้งของผู้สมัคร จะนับเริ่มนับ 1 ตั้งแต่ประกาศยุบสภาเลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หากป้ายยังมีการติดประกาศอยู่และที่ติดไปก่อนหน้านี้แล้วให้ถือว่าเป็นค่าใ้ช้จ่ายด้วย
ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ที่ไปสมัครหลังวันที่ 5 เมษายน ต้องมีคุณสมบัติสังกัดพรรคการเมือง 30 วันก่อนหรือไม่ นายวิษณู กล่าวว่า 30 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้งถอยกลับมา เพราะฉะนั้นตอนไปสมัคร ส.ส.อาจยังไม่ครบก็ได้ แต่ถึงวันเลือกตั้งต้องครบ
ขณะที่กรณีมีพรรคการเมืองไปร้องเรียนศาลปกครองเรื่องการแบ่งเขตหากมีการไต่สวนฉุกเฉินเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งหรือ ไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่ศาลปกครองว่าจะสั่งอย่างไร หากศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวก็มีผล แต่หากไม่สั่งก็ไม่มีผลกระทบอะไร ถึงศาลจะมีคำสั่งก็เดินหน้าตามกรอบของ กกต.ได้เพื่อส่วนรวม
สื่อถามว่าดูแล้วมีแนวโน้มจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า กกต . ไม่เปลี่ยนแปลงเขตแล้ว จนกว่าศาลจะมีคำสั่ง
นายวิษณุ ยังระบุว่า หากมีการยุบสภาฯในวันนี้ จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถ้ายุบพรุ่งนี้ก็ยังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมได้เช่นกัน พร้อมยืนยันว่า ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม หรือ 14 พฤษภาคม จะไม่มีความแตกต่างและนัยทางการเมือง
ส่วนที่มีความกังวลว่าศาลปกครองมีคำสั่งเรื่องการแบ่งเขตจะทำให้การเลือกตั้งมีผลเป็นโมฆะ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ถึงขั้นนั้น