วันนี้ (21 มี.ค.66) รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจ ผลกระทบของภาคธุรกิจต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบการภาคธุรกิจของไทย 600 ตัวอย่างทั่วประเทศ
สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองนั้น ภาคธุรกิจกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลว่า หากภายหลังการเลือกตั้งแล้วนโยบายไม่ได้รับการยอมรับ หรือมีเหตุตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้วมีภาพความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะได้รับการยอมรับจากสังคมมากน้อยเพียงใด เนื่องจากในการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ อาจจะเกิดเหตุการณ์ได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการแลนด์สไลด์ การเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เหตุการณ์นอกสภา นโยบายรัฐบาลจะเป็นอย่างไร เหล่านี้ล้วนสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุน จึงทำให้ในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้ เป็นช่วงของการ Wait and See
รศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้น่าจะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น แต่อยู่ภายใต้กติกา มีการรณรงค์หาเสียง ต่อสู้กันในเชิงการเมืองที่ค่อนข้างดุดัน เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านประสงค์จะเป็นพรรครัฐบาล ภายใต้นโยบายแลนด์สไลด์ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ก็พยายามที่จะมีที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯ ให้มากที่สุดเช่นกัน ส่งผลให้มีเม็ดเงิน มีการใช้จ่ายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สะพัดมากในช่วง 1 เดือนครึ่งก่อนการเลือกตั้งในเดือนพ.ค.ทุกเขตการเลือกตั้ง ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงประเมินเม็ดเงินที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งเพิ่มจากช่วงก่อนหน้านี้ที่ประเมินว่าจะอยู่ที่ 4-5 หมื่นล้านบาท เป็น 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1-1.2 แสนล้านบาทเป็นอย่างต่ำ กระตุ้น GDP ปีนี้ได้ราว 0.5-0.7%