พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่าย นสพ. วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน กล่าวว่า ปัจจุบันคลื่นความถี่และการประกอบกิจการของสื่อ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มธุรกิจสื่อมวลชน ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะมีการนำสื่อมาใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนในทุกด้าน สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อท้องถิ่น ในประเด็น “ร่วมหาทางออกวิทยุชุมชน หลังปี 2567” ขึ้น เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงได้ตระหนักรู้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับตัวและวางบทบาทการทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกันเอง โดยมุ่งเน้นการสร้างกลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการป้องกันการแทรกแซงสื่อจากอำนาจรัฐ และกลุ่มทุน
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “วิทยุกระจายเสียง” เป็นสื่อมวลชนที่มีความสามารถเข้าถึง ประชาชนในเขตชนบทได้อย่างทั่วถึง ในขณะที่สื่ออื่นๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ และโทรทัศน์ สามารถเข้าถึงแต่เฉพาะประชาชนในเขตชุมชนเมือง ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องรับวิทยุมีราคาไม่สูงมากนัก แม้ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ก็สามารถฟังวิทยุได้จากเครื่องรับประเภททรานซิสเตอร์ และยังสามารถนำติดตัวเคลื่อนย้ายไปได้ทุกหน ทุกแห่ง สื่อวิทยุชุมชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองและการพัฒนาประเทศผ่านการถ่ายทอด ความรู้หรือข่าวสารที่ง่าย ตรงไปตรงมาและกระชับ แต่มีความรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ สื่อวิทยุชุมชนจึงมีความสำคัญในการทำหน้าที่ เป็นสื่อกลางในการประสานความคิด และสร้างความเชื่อถือศรัทธาทางการเมืองการปกครองให้แก่ ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น