"หน้าร้อน 2566" ฤดูร้อน 2566 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา แนะ 8 กลุ่มเสี่ยงป่วยโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก พร้อมแนวทางการป้องกัน
ข่าวที่น่าสนใจ
โดยทางด้าน สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา ได้เผยข้อมูลว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน สภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวันอาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยจากโรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรก (Heatstorke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ จึงทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส ทำให้ตัวร้อน หน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย หายใจเร็ว มึนงง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก จนถึงขั้นหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจให้เสียชีวิตได้
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึง โรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรก ว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาจทำให้ประชาชนป่วยโรคลมแดดโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
กลุ่มเสี่ยงโรคลมแดด ได้แก่
- ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬา
- ผู้ใช้แรงงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร คนงานก่อสร้าง
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเจ้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอแนะนำประชาชนให้ดูแลสุขภาพตนเอง ดังนี้
- สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี
- อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
- หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนาน ๆ
- สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง
- ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำในร่างกาย
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- อย่าทิ้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น
หากพบผู้ป่วยจากภาวะอากาศร้อนให้ช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนี้
- นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก
- เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
- ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำของร่างกาย
- รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ทันที สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง