จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยความแตกต่างระหว่างปริมาณการผลิตและรับซื้่อไฟฟ้าของกฟผ.กับปริมาณการใช้ไฟจริงในประเทศ จนเกิดข้อคำถามถึงเหตุผลและความเหมาะสมของอัตราการสำรองไฟฟ้า เนื่องจากส่งผลทำให้ราคาไฟฟ้าสู่ภาคอุตสากรรมและครัวเรือนมีระดับสูง เมื่อเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำลังเป็นคู่แข่งด้านการผลิต การค้า ในเวทีโลก
ล่าสุด รายการ Top Biz Insight รายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้เคาะค่าไฟในรอบ พ.ค.- ส.ค. 2566 เพิ่มขึ้น เป็นอัตราเดียวกันเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เช่น ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมถูกแยกไว้อีกราคาหนึ่ง
หลังจากปัจจุบันบ้านอยู่อาศัยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%) และภาคธุรกิจ จ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย เทียบเคียงกับประเทศเวียดนามที่มีอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับภาคธุรกิจ และ ภาคอุตสาหกรรม ถูกกว่าภาคครัวเรือน เนื่องจากเวียดนามต้องการดึงทุนต่างประเทศเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศ
“เวียดนามเข้าไปช่วยภาคอุตสาหกรรม เข้าไปทำให้ค่าไฟถูก เพื่อทำให้ต้นทุนสินค้าของเวียดนามถูกและสามารถแข่งกับต่างประเทศได้ โดยเมื่อสินค้าขายดี การส่งออกก็จะเพิ่มขึ้น การผลิตในประเทศก็จะเพิ่มขึ้น การจ้างงานก็จะมากขึ้น คนเวียดนามก็จะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ซึ่งเมื่อต่างชาติเห็นแล้วก็จะมาลงทุนกันในเวียดนาม ก็สามารถดึงทุนจากต่างประเทศ เข้าไปตั้งในเวียดนามได้อีก”
ขณะที่เมื่อพิจารณาโครงสร้างค่าไฟของประเทศไทย ถามว่าเกิดอะไรขึ้น เนื่องจากโครงสร้างทางการเมืองไทยแตกต่างจากเวียดนาม นักการเมืองของเวียดนามเห็นภาคธุรกิจเป็นหลัก ดังนั้นประเทศไทยจึงควรทำให้ประชาชนต้องได้รับค่าไฟถูก ส่วนภาคอุตสาหกรรมควรเป็นฝ่ายรับภาระเอง