สืบเนื่องจากเสียงสะท้อนจากประชาชนคนไทยที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม สะท้อนว่าค่าไฟฟ้าของไทย แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้กระทบความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนหลายรายต่างมีผลกำไรกันถ้วนหน้า แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหลักที่มีภารกิจสำคัญในการรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ เหลือสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพียงประมาณ 30% และแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้า ร่วม 1 แสนล้านบาท
ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ระบุว่า สาเหตุที่ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยแพง ส่วนหนึ่งเกิดจากกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยสูงเกินกว่าความต้องการมาก และ การที่กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูง ทำให้เราจะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายหรือ ค่า AP (Availability Payment) ให้แก่เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าแพงตามไปด้วย และต้องจ่ายมากด้วย
ค่าความพร้อมจ่าย คือ เอกชนที่ผลิตไฟฟ้า ที่สร้างโรงงานไฟฟ้าขึ้นมา แม้ว่าจะไม่มีการผลิตไฟฟ้าให้ ก็ต้องจ่ายเงินให้แก่เอกชน เพราะมีต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ต้นทุนในการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง เค้าเรียกว่าค่าความพร้อมจ่าย หรือ ค่า AP
โดยในส่วนของการบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าไฟฟ้าปัจจุบันมองว่าเป็นอย่างไร สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ของประชาชนมากน้อยแค่ไหน ดร.สามารถ ระบุว่า การบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้า ต้องดำเนินการ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan) ซึ่งแผนนี้จะคาดการณ์การใช้ไฟฟ้า ความต้องการใช้ไฟฟ้า ในอนาคตไว้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการสำรองการผลิตไฟฟ้าไว้ไม่ให้มีการขาดแคน ซึ่งการคาดการณ์หรือการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องที่ยาก ที่จะทำให้ใกล้เคียงความจริงได้ เพราะบางช่วงมีการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง แต่ความเป็นจริงเศรษฐกิจไม่ได้โตตามที่คาดการณ์ไว้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าจึงลดน้อยลง อย่างเช่น โครงการอีอีซีที่มีการคาดการณ์ว่าจะเปิดในช่วงเวลานั้น เวลานี้ ต้องการไฟฟ้าจำนวนเท่านี้ พอถึงระยะเวลาจริง ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ทำให้การคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าสูงเกินความเป็นจริง จึงทำให้มีการสำรองกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงตามไปด้วย