GISTDA เผย "จุดความร้อน" ไทยสูงปรี๊ด ถึง 5,572 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ขณะที่ พม่า ยังครองแชมป์สูงสุด 10,563 จุด
ข่าวที่น่าสนใจ
GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เผยข้อมูลจากดาวเทียม ซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 26 มีนาคม 2566 ไทย พบ “จุดความร้อน” สูงสุดในรอบ 5 ปี จากการเก็บสถิติที่ผ่านมา โดยมากถึง 5,572 จุด ขณะที่เพื่อนบ้านอย่าง พม่า ยังคงครองแชมป์สูงสุด 10,563 จุด ตามด้วย สปป.ลาว 9,652 จุด กัมพูชา 1,342 จุด เวียดนาม 870 จุด และ มาเลเซีย 22 จุด
สำหรับจุด ความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นป่าอนุรักษ์ 2,982 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,785 จุด พื้นที่เกษตร 376 จุด พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ 207 จุด พื้นที่เขต สปก. 202 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 20 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ น่าน 638 จุด แม่ฮ่องสอน 558 จุด และ อุตรดิตถ์ 430 จุด
สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุด ความร้อน คือ PM 2.5 สถานการณ์การจุด ความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดน เนื่องจากได้รับอิทธิพจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือ การสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ค่าฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยก็ยังน่าเป็นห่วงมากเช่นเคย โดยเมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน เช็คฝุ่น แบบรายชั่วโมง เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 26 มีนาคม 2566 พื้นที่หลายจังหวัดในประเทศอยู่ในเกณฑ์เกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) โดยเฉพาะ 3 จังหวัดที่มีค่า PM 2.5 สูงสุดคือ เชียงราย น่าน และ พะเยา ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่จะตามมา ในขณะที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบค่าคุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง และระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง