ติดตามต่อเนื่องจากปรากฎการณ์ค่าไฟแพง ท่ามกลางข้อคำถามมากมาย เกี่ยวกับวิธีบริหารจัดการต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ ล่าสุด Top Biz Insight ( 24 มี.ค. ) ได้ขยายประเด็นเพิ่มเติมจากข้อคำถามของชาวบ้านในหลายพื้นที่ สงสัยว่าทำไมสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ทำไมต้องเสียค่าใช้จ่ายในสัดส่วนเพิ่มขึ้น “ไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดค่าไฟฟ้าจึงแพงขึ้นกว่าเดิม ทำให้ตนและคนในบ้านแทบไม่อยากจะเปิดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว เพราะตอนนี้บิลเรียกเก็บค่าใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว”
ทั้งนี้จากการแสดงความเห็นของ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุถึงปัญหาค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน ทำไมภาคครัวเรือนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง ทั้งๆที่รอบเดือน พ.ค.-ส.ค. ทิศทางพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลง และการบริหารจัดการไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศที่กระทบครัวเรือนทุกคน ขณะที่ไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญของภาคธุรกิจ ยิ่งช่วงที่ประเทศกำลังเร่งฟื้นฟูในช่วงเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการแข่งขันมีความรุนแรง จึงอยากเสนอให้ กกพ.ลองดูการคำนวณค่า FT โดยเปลี่ยนจาก 3 งวดต่อปี และงวดละ 4 เดือน ไปเป็น 6 งวดต่อปี หรือทุก 2 เดือนเพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีความถูกต้อง สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามถ้าย้อนกลับไปฟังวิธีคิดของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ดูเหมือนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แน่นอน โดยเฉพาะกับคำพูดของนายสุพัฒนพงษ์ ในการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงาน ว่า “ปัจจุบันมีแนวโน้มลดปริมาณการผลิตไปเรื่อยๆจนถึงสิ้นปี ตามลักษณะโครงสร้างพลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีตัวเลขสำรองสะสมมาตลอดหลายปี และตนคิดว่าเป็นโครงสร้างที่ดีเพียงแต่ว่ามันเจอวิกฤติ แต่แน่นอนฝ่ายที่เห็นต่างก็จะบอกมันไม่ยุติธรรมหรือแพงเกินจริง”
ไม่เท่านั้น นายสุพัฒนพงษ์ ยังอ้างด้วยว่า ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ไม่รู้กี่ครั้งแล้ว รวมถึงกล่าวหาว่าฝ่ายที่คัดค้านเรื่องการซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชน มีการคำนวณผิด ๆ เรื่องกำลังการผลิต
“กำลังการผลิตยังมีการคำนวณผิด โดยไม่เห็นมาพูดคุยอธิบายว่าคำนวณอย่างไร แล้วสื่อก็ไปนั่งคำนวณด้วยกัน มีโจทย์ควรมานั่งทำ ไม่เห็นมาสักทีนึง ก็พูดอยู่ว่ากำลังการผลิตเกิน 60% เราก็พิสูจน์ว่ามันไม่ใช่ เมื่อวานก่อนก็แถลงข่าวไปแล้ว เอาสูตรขึ้นเลย 2 ข้าง ว่าสูตรนี้เราใช้อยู่ กากบาทถูก อันที่พูดกันอันนี้ผิด ก็ไม่ยอมรับกัน”
และนี่เป็นข้อคำถามว่าสรุปแล้วใครแน่อธิบาย หรือมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขเรื่องการผลิตไฟฟ้าและการสำรองไฟฟ้าถูกต้อง เพราะในขณะที่รมว.พลังงาน อ้างดิงตัวเลขสำรองไฟฟ้าอยู่ที่ 36% แต่เมื่อดูกราฟข้อมูล ปี 2568 กระทรวงพลังงานระบุไฟฟ้าสำรอง กลับอ้างอิงควรจะอยู่ในระดับ 15% กับ 36% ซึ่งประเด็นนี้สำคัญ เนื่องจากถ้าเราใช้ไฟฟ้าของกฟผ. แล้วยังไปซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน เพื่อใช้เป็นปริมาณสำรองในะดับสูง โดยภาคเอกชนเป็นผู้ขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ความเดือดร้อนย่อมหนีไม่พ้นผู้บริโภคภาคครัวเรือน และโรงงานอุตสาหกรรมอย่างแน่นอนจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น