“6 องค์กรสื่อ” วอนเจ้าหน้าที่รัฐ-ผู้ชุมนุม หยุดใช้ความรุนแรง

“6 องค์กรสื่อ” วอนเจ้าหน้าที่รัฐ-ผู้ชุมนุมหยุดใช้ความรุนแรง ขอชุมนุมตามสันติวิธี ชี้ตำรวจสลายม็อบไม่สอดคล้องหลักสากล “ผู้ชุมนุม”ใช้อาวุธตอบโต้ ขอความร่วมมือสื่อรายงานข้อเท็จจริงรอบด้าน

6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ทุกฝ่ายช่วยดูแลความปลอดภัยในการชุมนุมและให้การชุมนุมเป็นไปตามสันติวิธี

ส่วนกรณีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการใช้กระสุนเหล็กหุ้มยาง (กระสุนยาง) ระหว่างปฏิบัติหน้าที่รายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม และวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564 นำไปสู่การยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งโดยโจทก์ซึ่งประกอบด้วยผู้สื่อข่าวภาคสนามที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้ตำรวจ “ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน” ขณะเดียวกันศาลระบุว่า “โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน” ด้วยเช่นกัน

อีกทั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม และได้มีข้อสรุป พบว่า การจัดตั้งสิ่งกีดขวางเพื่อสกัดกั้นการชุมนุม การใช้อาวุธ อุปกรณ์ ตลอดจนขั้นตอนในการควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ ยังไม่ได้เป็นไปในลักษณะจากเบาไปหาหนัก ไม่ได้สัดส่วนและไม่สอดคล้องกับหลักสากล จนส่งผลให้ผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง สื่อมวลชน และประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ กลุ่มผู้ชุมนุม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนได้ตระเตรียมและใช้อาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธในการตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ อันไม่เป็นไปตามหลักการการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จนทำให้มีตำรวจที่ควบคุมการชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่งเช่นกัน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการรับฟังข้อเท็จจริงกับผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติงานในภาคสนามบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุม จึงขอเรียกร้องมายังฝ่ายต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.ตำรวจต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลแพ่งอย่างเคร่งครัดขณะปฏิบัติในพื้นที่ชุมนุม ประกอบกับใช้ความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติหน้าที่ มีมาตรการในการควบคุมสถานการณ์ตามหลักปฏิบัติทางกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธหรืออุปกรณ์ และประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้รับบาดเจ็บ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์การชุมนุมครั้งที่ผ่านๆ มา และขอให้ตำรวจปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้หารือกับตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ว่าจะใช้กระสุนยางตามหลักปฏิบัติสากล โดยจะมีการเตือนอย่างชัดเจนทุกครั้งก่อนการปฏิบัติการและจะระมัดระวัง ไม่ให้ผู้สื่อข่าวตกเป็นเป้าในการใช้กระสุนยาง รวมทั้งการออกปลอกแขนสำหรับสื่อมวลชนโดยไม่ได้มีการหารือกับองค์กรวิชาชีพสื่อตามที่ได้ตกลงกัน

2.สื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง ควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ระบุไว้ในเอกสาร “แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต” ที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนร่วมกันจัดทำขึ้น ซึ่งมีใจความสำคัญ อาทิ ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องแสดงบัตรหรือสัญลักษณ์แสดงตนของสื่อมวลชน เว้นแต่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติต้องรายงานข่าวและภาพข่าวตามข้อเท็จจริง ถูกต้องครบถ้วน รอบด้าน โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงคำนึงถึงความหลากหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ และให้พื้นที่ข่าวอย่างสมดุลและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เป็นต้น

3.แม้ว่าผู้ชุมนุมจะมีสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย แต่การชุมนุมนั้น จะต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การที่มีผู้ชุมนุมบางส่วนใช้สิ่งเทียมอาวุธต่างๆ ย่อมไม่เป็นไปตามหลักการ และอาจทำให้ผู้ที่มาชุมนุม รวมทั้งผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องได้รับบาดเจ็บด้วย ดังนั้น ผู้จัดการชุมนุมจะต้องควบคุมและตรวจสอบกันเองในกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลของการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม

4.ขอเรียกร้องให้มีกลไกหรือช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้จัดการชุมนุมและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน รวมทั้งสื่อมวลชน เพื่อให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อันจะช่วยให้ลดการเผชิญหน้า ลดความรุนแรงและเกิดความปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ควรมีความรับผิดชอบในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด  เข้าใจในสิทธิของผู้ที่ชุมนุมอย่างสงบ และหน้าที่ของสื่อมวลชน ส่วนผู้นัดหมายการชุมนุม แกนนำการชุมนุม และผู้เข้าร่วมชุมนุม ควรมีหน้าที่ที่จะสื่อสารถึงผู้ชุมนุม ในการยึดมั่นการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธที่อาจก่ออันตรายถึงชีวิตอย่างเคร่งครัด และทบทวนรูปแบบการชุมนุมทุกครั้งที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง

สุดท้าย องค์กรวิชาชีพ ขอยืนยันว่า ในทุกสถานการณ์การชุมนุม สื่อมวลชนไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง โดยผู้ชุมนุมต้องใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอย่างแท้จริง ขณะที่รัฐบาลต้องมีแนวทางในการจัดการและควบคุมฝูงชนให้สอดคล้องกับหลักการสากล โดยให้เป็นไปตามขั้นตอน และได้สัดส่วนที่เหมาะสม

ขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยสงบกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงแบบแยกแยะ ในกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงอันทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินของทางราชการ เจ้าหน้าที่จะต้องเร่งนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความโปร่งใสแก่ทุกฝ่าย

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เมียไรเดอร์ เปิดใจเสียงสั่น กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังรู้ข่าว หนุ่มอินเดียซิ่งเก๋งได้ประกันตัว ลั่น ‘คนมีเงินมันยิ่งใหญ่’
นายกฯ เปิดงาน Thailand Reception เชิญชวนสัมผัสเสน่ห์อาหารไทย ชูศักยภาพเศรษฐกิจ
จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น